กฎหมายไม่สามารถออกตามอำเภอใจได้..!!!

นาย ธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ” การออกกฎหมาย” ฃึ่งวีคลี่นิวส์ ออนไลน์ เห็นว่าเป็นความคิดเห็นที่จะเตือนสติผู้ที่คิดจะออกกฎหมาย”ตามใจฉัน”หลายเรื่อง ที่ผ่านมา ว่า ควรจะได้รับฟังความคิดเห็นของท่านรองปลัดกระทรวงยุติธรรมนี้กันสักหน่อย
ว่า

ในการออกกฎระเบียบนั้นรัฐจะทำตามอำเภอใจมิได้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ได้กำหนดว่าก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับรัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน” ซึ่งตามหลักการดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงหลักทางกฎหมาย 3 ประการด้วยกัน คือ
1. หลักความจำเป็น เป็นหลักที่เรียกร้องให้รัฐออกมาตรการที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์มา หลายๆมาตรการ แล้วให้เลือกดูว่ามาตรการใดก่อให้เกิดผลกระทบสิทธิของปัจเจกบุคคล น้อยที่สุด มาตรการที่กระทบสิทธิปัจเจกบุคคลน้อยที่สุดจะเป็นมาตรการที่จำเป็น
2. หลักความได้สัดส่วน หลักการนี้เป็นการให้ชั่งน้าหนักระหว่าง ประโยชน์ที่ปัจเจกบุคคลต้อง เสียไปกับประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับว่ามันได้สัดส่วนกันหรือไม่ คุ้มไหมที่จะต้องลิดรอนสิทธิของคนๆหนึ่งเพื่อให้สาธารณะได้ประโยชน์
3. หลักสัมฤทธิผลหรือประสิทธิภาพ นอกจากมีความจำเป็นและมีประโยชน์ต่อสังคมทั้งสอง ประการข้างต้นแล้ว ยังต้องเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่มีประสิทธิภาพ หลักการนี้คือ รัฐจะออกกฎระเบียบใดหรือใช้มาตรการทางปกครองใด มาตรการนั้นต้องก่อให้เกิดผลดังที่รัฐหรือฝ่ายปกครองต้องการให้เกิด
การที่จะทำให้เกิดหลักการดังกล่าวได้ต้องทำการวิเคราะห์การออกกฎเสียก่อน รวมถึงต้องพิจารณาทางเลือกว่าควรออกกฎหรือไม่ ถ้าต้องออกวิธีใดจะดีที่สุด หรือในที่สุดแล้วทางที่ดีที่สุดนั้นอาจไม่ต้องออกเป็นกฎใดเลยก็ได้ ในการวิเคราะห์การออกกฎก็ควรจะต้องแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม คือ ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ในหลายๆประเทศได้มีการจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากการออกกฎหมาย(RIA/Regulatory Impact Assessment) ซึ่งประโยชน์ของการวิเคราะห์นี้จะเป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะใช้ในการตัดสินใจ และจะช่วยทำให้แน่ใจว่าผู้ออกกฎได้มองปัญหาและทางเลือกอย่างครบถ้วน รอบด้านและเป็นระบบแล้ว รวมทั้งได้มีการแสดงว่าได้มีการตัดสินใจอย่างโปร่งใส ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประโยชน์ของฝ่ายใด แต่จะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมส่วนรวม

นอกจากนี้เมื่อตราเป็นกฎหมายแล้วยังต้องมีการติดตามประเมินผลอีกว่า หลังการบังคับมีผลบังคับใช้แล้ว มีการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมายหรือไม่ เพราะมีหลายครั้งจากประสบการจะมีการใช้กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ หรือรังแกกันก็ยังมี เช่น การขายฝาก การทำสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้น แต่แสร้งทำเป็นคนใจดีลดดอกให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดด้วยการไปทำภาระจำยอมในศาล หรือกรณีมาตรา 112 ก็พบมากมายเป็นต้น

ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ทุกวันนี้มีการทำกระบวนการยกร่างกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมครบถ้วนตามหลักการหรือไม่ ? หรือว่าสักแต่ว่าทำให้แล้วๆกันให้ครบตามหลักการ

ฉะนั้น จึงต้องร่วมกันตรวจสอบและรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่ายครับ ทั้งภาคประชาชน และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง มิเช่นนั้น ผลกระทบจะตามมามากมายในระยะยาวแบบชั่วโคตรต่อการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคลและสาธารณะเลยครับ

//ธวัชชัย ไทยเขียว
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม