ประธานศาลฎีกา เปิดศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญา มุ่งเน้นคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ อำนวยความยุติธรรมยึดมั่นในหลักนิติธรรม พร้อมเป็นต้นแบบทยอยเปิดตามศาลจังหวัดทั่วประเทศ ด้านสังคมออนไลน์ถกขำกลิ้งย้อนถาม คดี ไผ่ ดาวดิน

นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญา ซึ่งศาลอาญาจะเป็นต้นแบบให้กับศาลทั่วประเทศ

ด้านนายสุภัทร์ สุทธิมนัส อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า ศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพฯ มีภารกิจให้ความรู้สิทธิทางกฎหมายกับผู้ต้องหา ผู้เสียหายคดีอาญา และพยานด้วย เช่น สิทธิการเข้าเป็นโจทก์ร่วม และเรียกค่าเสียหายของผู้เสียหาย และพยานเรื่องสิทธิคุ้มครองพยาน ประเด็นถาม-ตอบการเบิกความ ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตการทำหน้าที่ศูนย์สมานฉันท์จากเดิมที่ให้ความรู้สิทธิทางกฎหมายกับฝ่ายจำเลย อีกทั้งจะจัดผู้พิพากษา 2 คนปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วยหัวหน้าคณะในศาลอาญาที่มีประสบการณ์ทางคดีกว่า 20 ปี และระดับผู้พิพากษาศาลอาญา ประสบการณ์ทางคดีไม่ต่ำกว่า 10 ปี อีก 1 คน และยังมีเจ้าหน้าที่นิติกรอีกจำนวนหนึ่งประจำศูนย์ด้วย ศูนย์ดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่ชั้น 8 อาคารศาลอาญา

นอกจากนี้ยังกล่าวถึง กรณีของ ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา มองว่าเนื่องด้วยเป็นคนละศาลและจังหวัด แต่หากมีการโอนมายังศาลอาญาก็พร้อมรับทำคดี ส่วนการพิจารณาคดีลับหรือไม่นั้น ระบุว่ามีกฎหมายรองรับ ศาลไม่ได้ทำอะไรเกินกว่านั้น ส่วนกรณีพลเรือนขึ้นศาลทหารนั้นระบุว่า มีกฎหมายกำหนดอยู่ และศาลต้องปฏิบัติตาม หากเป็นคดีความมั่นคงภายไม่ว่าทหารหรือพลเรือน ภายใต้สภาพบ้านเมืองดังปัจจุบัน ก็ต้องไปขึ้นศาลทหาร

ด้านสังคมออนไลน์ขำกลิ้งที่ศาลเปิดตัวศูนย์ดังกล่าว โดยยกตัวอย่างคดีของไผ่ ดาวดิน ที่ไม่ได้รับการประกันตัว โดยศาลอ้างว่าเป็นคนละศาลและคนละจังหวัด

บางคนกล่าวว่าเปลืองภาษีของประชาชน