ธรรมะสวัสดี – มงคลชีวิต บูชาบุคคลที่ควรบูชา
ต้นไม้เมื่อยังเล็กเป็นต้นกล้าอยู่
จำเป็นต้องมีหลักค้ำประคองไว้
ป้องกันไม่ให้ล้มรากขาดตายเสียก่อนฉันใด
ผู้ที่หวังความเจริญก้าวหน้า ก็จำเป็นต้องบูชาบุคคลที่ควรบูชา
ไว้เป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่ถูก
เป็นหลักใจ ป้องกันความเห็นผิดและอกุศลกรรมต่างๆ
มิให้ย้อนกลับกำเริบขึ้นมาอีกฉันนั้น
การบูชา คือ อะไร ?
การบูชา คือกาเสื่อมใสยกย่อง เชิดชู ด้วยกิริยาอาการสุภาพที่เราแสดงต่อผู้ที่ควรบูชาทั้งต่อหน้าและลับหลัง การแสดงต่อหน้า เป็นการแสดงให้ท่านทราบว่าเรามีความเคารพและตระหนักในคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวของท่านอย่างจริงใจ การแสดงลับหลัง เป็นการเตือนใจตัวเราเอง ให้ผูกใจไว้กับคุณธรรมอันสูงส่งของท่าน ก่อให้เกิดความรู้สึกอยากกระทำตาม ใจเราจะได้ยกสูงขึ้นเสมอๆ ไม่เลื่อนไหลไปในทางชั่วร้าย
การบูชา เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง สำหรับฝึกใจที่ยังหยาบกระด้าง เพราะไม่อาจยอมรับคุณความดีของผู้อื่น ให้ละเอียดอ่อนลง ผู้ที่ยังด้อยปัญญา ยังไม่เข้าใจในคุณธรรมความดีของผู้ที่ควรบูชานัก แต่หากได้เคยชินกับการบูชาแล้ว ในที่สุดย่อมสามารถเห็นถึงคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวของผู้ที่เราบูชาได้อย่างแจ่มชัด จนเกิดความเลื่อมใสกลายเป็นการบูชาอย่างแท้จริง อยากทำความดีตามท่านบ้าง ผู้ใหญ่จึงควรสอนบุตรหลานให้รู้จักสวดมนต์บูชาพระ- รัตนตรัย เป็นการปลูกศรัทธาให้รู้จักบูชาบุคคลที่ควรบูชาตั้งแต่เด็กๆ
บูชา
คือบุคคลที่มีคุณความดีควรค่าแก่การระลึกนึกถึง และยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตาม ได้แก่ ผู้มีศีล สมาธิ ปัญญาสูงกว่าเรานั่นเอง ซึ่งประมวล สรุปได้ดังนี้
๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบัณฑิตที่ประเสริฐสุดในโลก ทรงไว้ด้วย พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ จัดเป็นบุคคลที่ควรบูชาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
๒. พระสงฆ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบก่อนแล้วจึงสอนให้ผู้อื่นประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามอย่างบ้าง จัดเป็นบุคคลที่ควรบูชาของพุทธศาสนิกชน
๓. พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม เป็นธรรมราชา จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของประชาชน
๔. บิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ที่มีความประพฤติดี เป็นบัณฑิตที่อยู่ในฐานะสูงเกินกว่าจะคบ จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชา หรือปูชนียบุคคลของบุตรหลาน
๕. ครูอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ ความประพฤติดี เป็นบัณฑิตที่อยู่ในฐานะสูงเกินกว่าศิษย์จะคบหา จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของศิษย์
๖. ผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในธรรม จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
นอกจากนี้บัณฑิตที่มีเพศภาวะสูงเกินกว่าที่จะคบในฐานะผู้เสมอกันได้ ล้วนจัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาทั้งสิ้น
สิ่งที่เนื่องด้วยท่านเหล่านี้ ก็จัดเป็นสิ่งที่ควรบูชาอีกเช่นกัน เพราะเมื่อเราบูชาสิ่งเหล่านี้ ก็ทำให้ระลึกนึกถึงคุณงามความดีของบุคคลที่สิ่งเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องด้วย ตัวอย่างคือ
๑. สิ่งที่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ พระพุทธรูป พระบรมสารีริกธาตุ สังเวชนียสถานฯลฯ
๒. สิ่งที่เนื่องด้วยพระสงฆ์ เช่น พระธาตุ รูปพระสงฆ์สาวกฯลฯ
๓. คำสั่งสอน รูปภาพของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา พระมหากษัตริย์ ซึ่งตั้งใจประพฤติธรรม เป็นบัณฑิต จัดเป็นสิ่งที่ควรบูชาทั้งสิ้น
การแสดงออกถึงความบูชา
๑. ทางกาย ไม่ว่าจะยืนเดินนั่งนอนหรือประกอบกิจใดๆ เมื่ออยู่ต่อหน้า ท่านหรือสัญลักษณ์ตัวแทนของท่าน เช่น รูปปั้น ภาพถ่าย ก็อยู่ในอาการสำรวม
๒. ทางวาจา สรรเสริญยกย่องคุณความดีของท่าน ทั้งต่อหน้าและ ลับหลัง เช่น การสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย การนำความดีของท่านไปสรรเสริญ
๓. ทางใจ ตามระลึกนึกถึงคำสอนของท่านด้วยความเคารพและซาบซึ้ง
ประเภทของการบูชา
การบูชาในทางปฏิบัติมี ๒ ประเภท คือ
๑. อามิสบูชา คือการบูชาด้วยสิ่งของ เช่น บุตรระลึกถึงคุณของบิดามารดา ศิษย์ระลึกถึงคุณของครูบาอาจารย์ จึงบูชาด้วยการนำทรัพย์สินเงินทองของใช้ ฯลฯ ไปมอบให้ เป็นต้น การบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ธูปเทียน ก็จัดเป็นอามิสบูชาเช่นกัน
๒. ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามคำสอน ตามแบบอย่างที่ดีของท่าน เช่น พยายามกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ตามคำสอนของท่าน การปฏิบัติบูชานี้จัดเป็นการบูชาที่สูงสุด เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้กาย วาจา ใจ ของเราใสสะอาด เป็นบัณฑิตตามท่านได้โดยเร็ว
ข้อเตือนใจ
สำหรับนักเรียนนักศึกษาหรือนักปฏิบัติธรรม พึงระลึกเสมอว่า สิ่งที่เราจะเรียนรู้นั้น ถ้าเราเทิดทูนบูชา ตั้งใจประคองรักษาอย่างดี ไม่นำไปล้อเลียน หรือพูดเล่น ผลของการศึกษาเล่าเรียนตลอดจนการปฏิบัติธรรมของเรา ย่อมจะมีความเจริญก้าวหน้าประสบผลสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์
ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่เคารพแต่กลับลบหลู่ครูอาจารย์หรือสิ่งที่จะเรียนรู้ ความเข้าใจ ความซาบซึ้งที่จะปฏิบัติตามคำสอนก็หมดไป เกิดความรู้สึก ไม่อยากบูชาหรือไม่ศรัทธา ใจที่ควรจะตรึกนึกถึงธรรมะหรือบทเรียนต่างๆ ก็มืดมิด เป็นการปิดกั้นหนทางที่จะเข้าถึงปัญญา อันจะเป็นแสงสว่างส่องนำวิถีชีวิตให้ก้าวไปในทางที่ถูกที่ควรที่ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น
ข้อควรระวัง
อย่าบูชาสิ่งที่ไม่ควรบูชา เพราะจะชักนำไปสู่ความงมงายหลงผิด จิตใจขุ่นมัวเป็นพาลไป ซึ่งทำได้ดังนี้
๑. ไม่บูชาคนพาล คือไม่ยกย่อง ไม่เชิดชู ไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุนคนพาล ไม่ว่าคนพาลนั้นจะมียศศักดิ์ สถานภาพสูงส่งเพียงไรก็ตาม
๒. ไม่บูชาสิ่งที่เนื่องด้วยคนพาล เช่น รูปภาพ รูปปั้น ผลงาน สิ่งของ เครื่องใช้ของคนพาล หรือทำตามคำแนะนำของคนพาล
๓. ไม่บูชาสิ่งที่บูชาแล้วไม่ทำให้เกิดสิริมงคล เช่น รูปภาพดารา นักร้องนักกีฬาที่ไม่มีคุณธรรมเพียงพอ ภาพโฆษณาเกี่ยวกับอบายมุข ฯลฯ อย่านำมาประดับบ้านเรือน
๔. ไม่บูชาสิ่งที่บูชาแล้วทำให้งมงายไม่เกิดปัญญา เช่น ต้นไม้ใหญ่ ภูเขาสูง ศาลพระภูมิ คนทรง ภูตผีปีศาจ สัตว์ที่เกิดมามีลักษณะผิดปกติ ฯลฯ
กราบ ๓ อย่าง
วิธีการบูชาพระพุทธรูปที่ใช้กันมากคือการกราบ ซึ่งผู้ที่กราบพระนั้น แยกได้หลายประเภท ดังนี้
๑. ยิ่งกราบยิ่งเมื่อย คือพวกที่เห็นคนอื่นกราบพระก็กราบตามเขา โดยไม่รู้ความหมาย ทำลวกๆ เหมือนลิงไหว้เจ้า อย่างนี้ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรเมื่อยเปล่า
๒. ยิ่งกราบยิ่งโง่ คือพวกที่กราบพระแล้วขอในสิ่งที่ไม่สมควร เช่น กราบพระขอหวย หรือไม่ดูหนังสือแล้วกราบพระขอให้สอบได้
๓. ยิ่งกราบยิ่งฉลาด คือพวกที่กราบพระแล้วยึดถือเอาพระธรรมคำ สั่งสอนของพระองค์มาเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม เช่น
กราบครั้งที่ ๑ ระลึกถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า ที่ทรงมีปัญญามาก สามารถพิจารณาเห็นทุกข์ และคิดค้นวิธีการดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้เพราะพระองค์ ศึกษาธรรมและฝึกสมาธิมามาก จึงมีใจใสสว่างจน สามารถตรัสรู้ธรรมปราบกิเลสในตัวได้หมด เราก็ต้อง ตั้งใจหมั่นฝึกสมาธิศึกษาธรรมตามอย่างพระองค์ด้วย
กราบครั้งที่ ๒ ระลึกถึงพระบริสุทธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ เพราะพระองค์ทรงรักษาศีลมามาก ไม่เคยให้ร้ายแก่ใครเลย เป็นตัวอย่างในการรักษาศีลได้อย่างดี เราก็ต้องตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์อย่างพระองค์ด้วย
กราบครั้งที่ ๓ ระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงเทศนา สั่งสอนผู้คนทั้งหลาย โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญทาน ช่วยเหลือสัตว์โลกมานับภพนับชาติไม่ถ้วน จึงมีความเมตตากรุณาเป็นเลิศ เราก็ต้องตั้งใจหมั่นให้ทาน มีความกรุณา ช่วยเหลือ ผู้อื่นตามอย่างพระองค์ด้วย
อานิสงส์การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
๑. ยังความเห็นถูกที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๒. ยังความเห็นถูกที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
๓. ทำให้มีกิริยามารยาทสุภาพอ่อนโยน น่ารักน่านับถือ
๔. ทำให้จิตใจผ่องใส เพราะตรึกอยู่ในกุศลธรรมเสมอ
๕. ทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ขึ้นเพราะมีความสำรวมระวัง เป็นการป้องกันความประมาท
๖. ป้องกันความลืมตัวความหลงผิดได้ เพราะตระหนักอยู่เสมอว่า ผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่าตนยังมีอยู่
๗. ทำให้เกิดกำลังใจและอานุภาพอย่างมหาศาล สามารถคุ้มครองป้องกันตนให้พ้นจากอุปสรรคและภัยพาลต่างๆ ได้
๘. เป็นการกำจัดคนพาลให้พินาศไปโดยทางอ้อม เพราะมีแต่คนบูชาบัณฑิตผู้มีคุณธรรม
๙. เป็นการเชิดชูบัณฑิตให้สูงเด่น ทำให้ท่านสามารถบำเพ็ญกรณียกิจได้สะดวกกว้างขวางยิ่งขึ้น
ฯลฯ
“ผู้ใด พึงบูชาท่านผู้อบรมตนแล้วผู้หนึ่ง แม้เพียงครู่เดียว การบูชาของผู้นั้น ประเสริฐกว่าการบูชาของบุคคลผู้บูชา (โลกิยมหาชน) ด้วยทรัพย์เดือนละพัน ตลอดร้อยปี”
โดย พม.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ
ใส่ความเห็น