เรื่องของบาป-บุญ
“บุญเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ บาปพึ่งไม่ได้”
กาย วาจา ใจ ของบุคคลเป็นฐานที่ตั้งแห่งการทำบุญ เป็นฐานที่ตั้งแห่งการทำบาป
การทำบาป เป็นสิ่งไม่ดี ก่อให้เกิดทุกข์โทษเวรภัย ทั้งต่อตนและบุคคลอื่น พึงหลีกเว้นจากการทำบาปในทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นด้วยกาย เช่น การทำร้ายร่างกายผู้อื่น การลักทรัพย์หรือฉ้อโกงผู้อื่น การผิดประเวณี การชอบพูดโกหก การดื่มสุราหรือเสพยาเสพติด ฯลฯ ผลแห่งการทำบาปตนเดือดร้อน คนใกล้ชิดเดือดร้อน ทำบาปเมื่อไร ก่อเหตุเมื่อไร ผลย่อมติดตามมาในที่สุด อย่าเผลอคิดว่าบาปทำแล้วไม่ให้ผล เปรียบเหมือนเสื้อผ้า ที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน หรือผ้าที่ขาดทะลุ ไม่เหมาะแก่การสวมใส่ เมื่อผิดบาปไปแล้วร้ายแรงกว่าผ้าขาด หนังขาด หรือหัวแตก
การทำบุญ เป็นสิ่งที่ดี ก่อให้เกิดความสุข ความสำเร็จ เป็นที่พึ่งแก่ตนและบุคคลใกล้ชิด การทำบุญนั้นทำได้ง่ายมาก เช่น
การให้ทาน การแบ่งปันกันในสังคมทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น เปรียบเสมือนทางที่กว้างย่อมเดินได้สะดวก ทางที่แคบเดินได้ลำบาก นอกจากเป็นการเกื้อกูลแก่สังคมแล้ว ยังเป็นการฝึกใจตนให้เป็นผู้เสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว เป็นการสงเคราะห์ผู้อื่น
การรักษาศีล สำรวมระวังกายวาจาใจ เปรียบเสมือนการใส่เสื้อผ้าที่สะอาดเรียบร้อย ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไปไหนมาไหนก็สง่างาม ไม่เกิดแผลในใจตน แต่เรื่องของศีลนั้นยิ่งกว่าเรื่องเสื้อผ้าเป็นอันมาก ศีลเป็นพื้นฐานที่สำคัญ เปรียบเหมือนการที่เรายืนอยู่บนแผ่นดิน ถ้าแผ่นดินไม่มั่นคงเราคงยืนหยัดอยู่ไม่ได้
การภาวนา การภาวนานั้นมีสอง สวดมนต์ภาวนา ตามบทสวดต่าง ๆ และสมาธิภาวนา ในขั้นนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดของมนุษย์ มนุษย์นั้นมีกายและมีใจ ร่างกายเราบำรุงดูแลให้อาหารกายแล้ว ใจนั้นยิ่งสำคัญ เป็นสิ่งสำคัญที่บุคคลมักไม่เห็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ใจที่มีอยู่กับเราทุกคน ใจนั้นก็ต้องการอาหารใจ
ร่างกายต้องการดูแล ต้องการชำระความสะอาด ต้องการรับประทานอาหารทุกวัน ใจก็เช่นเดียวกัน แต่ละวันเราใช้กำลังใจทำสิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลา ทั้งการศึกษา ทั้งการประกอบกิจการงาน ทั้งสารพัดปัญหาที่เข้ามาสู่ใจ ใจนี้ต้องรองรับและสะสมอารมณ์อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิด จนตายวิธีการดูแลใจนั้นง่ายมาก โดยการทำสมาธิในหนทางที่ถูกต้อง ใช้เวลาไม่นานในแต่ละวันเราก็ให้อาหารใจได้แล้ว โดยการหยุดพักใจ การพักใจที่มีประสิทธิภาพ คือการทำสมาธิ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายเมื่อเรามีผู้รู้หรือครูบาอาจารย์หรือกัลยาณมิตรคอยแนะนำ
ดังนั้น บาปอย่าทำเลย ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งต่อตนและคนที่ใกล้ชิด บุญนั้น กระทำให้มาก เจริญให้มาก ก่อให้เกิดความสุขความเจริญแก่ชีวิตยิ่ง ๆ ขึ้นไป
รังสรรค์ อินทร์จันทร์
15/12/58
ใส่ความเห็น