ธรรมะสวัสดี – จริต
จริต
จริต หรือ จริยา 6 (พื้นนิสัย , แบบหรือประเภทใหญ่ ๆ แห่งพฤติกรรมของคน)
ตัวความประพฤติเรียกว่า จริยา บุคคลผู้มีความประพฤติอย่างนั้น ๆ เรียกว่า จริต
1. ราคจริต (ประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม)
2. โทสจริต (ประพฤติหนักไปทางใจร้อน หงุดหงิด)
3. โมหะจริต (ประพฤติหนักไปทางเขลา เหงาซึม เงื่องงง งมงาย)
4. สัทธาจริต (ประพฤติหนักไปทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใสโดยง่าย)
5. พุทธิจริต หรือ ญาณจริต (ประพฤติหนักไปทางใช้ความคิดพิจารณา)
6. วิตกจริต (ประพฤติหนักไปทางนึกคิดจับจดฟุ้งซ่าน)
(อ้างอิงจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต) )
สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ภิกฺขเว ภิกฺขุ ยถาภูตํ ปชานาติ
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง
(จากพระไตรปิฏก ฉบับสุภาษิต ธรรมรักษา)
เรื่องจริต หรือจริยา หรือพื้นนิสัยของแต่ละคนนั้นมีลักษณะเด่น ๆ ที่แตกต่างกันในแต่ละคน ดังข้างต้น ด้วยเหตุที่ว่า กายและจิตของแต่ละคนนั้นมีความสัมพันธ์กัน ด้วยนิสัยของแต่ละคนที่แตกต่างกันผลกระทบจากจิตมาถึงร่างกายของแต่ละคนจึงแตกต่างกันเป็นธรรมดา เช่น คนที่คิดจับจดฟุ้งซ่าน เจอเรื่องราวต่าง ๆ ก็ชอบเก็บเอามาคิด เรียกว่าไม่ยอมปล่อยวางกันง่าย ๆ คิดเล็กคิดน้อย คิดใหญ่คิดโต สารพันจะคิด ที่สุดสมองทำงานหนัก อารมณ์หนัก กระทบต่อร่างกาย ระบบประสาทพิการ อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ลำไส้ไม่ดี เพราะเหตุที่ว่า ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เป็นธรรมชาติของคน ยิ่งคนในยุคสมัยใหม่นี้ เรื่องราว ข้อมูล ข่าวสารเยอะแยะมากมาย เมื่ออารมณ์มันหนัก สมองทำงานหนัก กระทบต่อการเสียสุขภาพ อายุสั้น
ทำสมาธิกันเถิด เพราะเหตุที่ว่าเมื่อเราทำสมาธิ จิตเราจึงสามารถสงบจากอารมณ์ต่าง ๆ ได้ มีพลังจิตขึ้น สามารถควบคุมจิตได้ ลดการทำงานของสมอง สุขภาพกายก็ดี สุขภาพใจก็ดี ที่สุดสติและปัญญาดีขึ้น พัฒนาเจริญก้าวหน้าขึ้น รู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดความอัศจรรย์ใจขึ้นแก่ตนได้
รังสรรค์ อินทร์จันทร์
ที่ปรึกษา งานพัฒนาบุคคลสู่ความเป็นเลิศ
11/07/59
ใส่ความเห็น