ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร่างก.ม ใหม่ จะแท้งไม่แท้ง ติดตามชม
รัฐบาลเตรียมออกก.ม (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินเเละสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. … ซึ่งจะนำมาบังคับใช้เเทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนเเละที่ดิน พ.ศ.2475 เเละพ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508
ทั้งนี้ การเก็บภาษีที่ดินเเละสิ่งปลูกสร้างตามร่างกฎหมายที่เสนอนี้ไม่ใช่การเก็บภาษีใหม่ เเต่เป็นการปรับปรุงการเก็บภาษีโรงเรือนเเละที่ดิน เเละภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม เเละสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น รวมทั้งมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการในเขตพื้นที่ของตน ก่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษี ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้เกิดการกระจาย การถือครองที่ดิน เเละช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินได้อีกทางหนึ่ง นั้น
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เนื่องจากภาษีของไทยเน้นเก็บภาษีจากฐานรายได้ และฐานการบริโภค โดยมีการเก็บภาษีหรือเป็นรายรับของรัฐบาลจากฐานทรัพย์สินและฐานการถือครองทรัพย์สิน (Property Tax) ค่อนข้างน้อย
ภาษีทรัพย์สินเดิมที่เก็บอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฐานภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเจ้าหน้าที่เป็นช่องทางของการทุจริตได้ อัตราภาษีสูงเกินไปร้อยละ 12 ของค่าเช่ารายปี มีการเลี่ยงภาษีได้ง่าย ส่วนภาษีบำรุงท้องถิ่นก็มีช่องโหว่ในการเลี่ยงภาษีมาก ทำให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
เวลาเราพิจารณาหลักความเป็นธรรมทางภาษีต้องประกอบไปด้วย หลักความสามารถในการชำระภาษี (The Ability-to-Pay Principle) และ หลักผลประโยชน์ที่ได้ (The Benefit Principle) ฉะนั้น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่นำมาใช้แทน ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องถิ่น จะทำให้รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า ท้องถิ่นมีรายได้ไปพัฒนาพื้นที่มากขึ้น ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ อปท กระตุ้นให้มีการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ และ ลดการเก็งกำไรที่ดินและบ้าน
นอกจากนี้ พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลงทุนของภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ โดยอาศัยเงินภาษีของคนทั้งประเทศ แล้วทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้นจำนวนมากๆ ก็จำเป็นต้องเสียภาษีเพิ่มจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของที่ดินเพื่อนำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศต่อ ทำให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และ รัฐก็จะมีงบประมาณเพียงพอในการพัฒนาประเทศ กลไกของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในลักษณะก็จะมีลักษณะเป็น Betterment Tax ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพและความเป็นธรรมของระบบเศรษฐกิจและการใช้ที่ดินดีขึ้นอย่างชัดเจนในระยะยาว
อย่างไรก็ตามผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ข้อดีทั้งหลายที่กล่าวมาทั้งหมดไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ เนื่องจากร่างที่ผ่าน ครม กำหนดให้เก็บภาษีบ้านและที่ดินที่ใช้อยู่อาศัยโดยเพดานมูลค่าที่สูงเกินไป คือ สูงกว่า 50 ล้านบาทถึงจะเสียภาษี ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่มีทรัพย์สินน้อยกว่า มีรายได้น้อยกว่า อาจเสียภาษีมากกว่าคนที่มีฐานะดีกว่าก็ได้ เช่น คนหนึ่งมีบ้านหลังแรกอยู่อาศัยราคา 49 ล้านบาท ไม่เสียภาษี อีกคนหนึ่งมีบ้านหลังแรกอยู่อาศัยราคา 3 ล้านบาท มีบ้านหลังที่สองซึ่งอาจเป็นส่วนต่อขยายหรือหลังติดกันราคา 5 ล้านบาท ต้องเสียภาษีจากฐานทรัพย์สินจากฐาน 5 ล้านบาท
เกี่ยวกับข่าวนี้ นักธุรกิจรายหนึ่งเปิดเผยว่า เป็นการหาเงินเข้ารัฐ โดยเฉพาะอบจ เทศบาล อบต ฃึ่งมีบทบาทในการเก็บและในการใช้ ตนเกรงว่าจะเหมือนกับผว กทม ได้เงินภาษีมาแล้วใช้ไปในสนองตัณหาของตนเองมากกว่าจะเอาเงินภาษีของปชชไปใช้เพื่อปชช
ใครจะเข้ามาตรวจสอบ เพราะทุกวันนี้ลำพังงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีข่าวทุจริตแต่ไม่มีมือมาจับ มาตรวจสอบ ท้องถิ่นจึงไม่ได้มีการพัฒนานอกจากเอางบไปใช้ในการจ่ายค่าแรง
อีกประการหนึ่งตนเกรงว่าก.มนี้จะแท้งหรือไม่มากกว่า เพราะคนรวยที่มีที่ดินสะสมมากๆ โดยเฉพาะธนาคารที่ยึดทรัพย์จากปชชจะต้องถูกปฎิบัติด้วยเช่นกัน มิฉะนั้นก.มก็จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนธนาคารต้องเสียภาษีจำนวนมาก นายทุนเหล่านี้คงไม่ยอม หรือยอมรัฐบาลก็ต้องออกก.ม พิเศษมาช่วย ทำให้ไม่เป็นธรรมกับฝ่ายอื่นๆ
และการประเมินการเสียภาษีก็จะมีการตุกติกคิดราคาต่ำ เกิดช่องทางทุจริตในท้องถิ่นได้ง่าย
ใส่ความเห็น