ภเว ภวาสัมภวันติ เรารู้จักภพที่อยู่ของตน
ภวะ แปลว่า ภพ เราเจริญภพภาวนานี้
ภวะ แปลว่า ภพ ภพน้อย ๆ ภพใหญ่ ๆ ที่เราไปยึดตรงไหน นั่นแหละภพอยู่ตรงนั้นแหละ

ไปยึดเอาสุข นั่นมันก็เป็นภพ
ไปยึดเอาทุกข์ มันก็เป็นภพ

ยึดเอาดีมันก็เป็นภพที่ดี
ยึดเอาชั่ว มันก็เป็นภพที่ชั่ว

ไปยึดเอาทุกข์ก็เป็นภพที่ทุกข์ ไปยึดเอาสุขก็เป็นภพที่สุข นี่ที่อยู่

อัตตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน
เมื่อจิตเราสบายแล้วเราก็ได้ที่พึ่งอันสบาย
เมื่อจิตเราไม่สบาย เราก็ได้ที่พึ่งอันไม่สบาย นี่มันเป็นอย่างนี้ ให้พึงรู้พึงเห็นซิ

สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติรู้เองเห็นเอง ไม่ใช่ผู้อื่นเห็น เราเป็นผู้เห็นซี่ ให้มันรู้เห็นแจ้งประจักษ์ซี่ มันจึงหายสงสัยในภพทั้งหลาย

ภพน้อย ๆ ภพใหญ่ ๆ ที่ใกล้ที่ไกล ในนอก ผู้นี้ทั้งหมดเป็นผู้ไปยึด ผู้นี้ทั้งหมดเป็นผู้ไปถือ ให้รู้จัก

ความพ้นทุกข์ เราอยากพ้นทุกข์ เราให้รู้จักว่าสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด เราไปยึดเอา

เราอยากพ้นทุกข์ก็ให้กำหนดดูซี่
ถ้าจิตเรามีทุกข์อยู่มันก็ไม่พ้นทุกข์
จิตพ้นทุกข์คือมันไม่ทุกข์ คือมันละมันวางหมด

เมื่อมันละมันวางหมดแล้ว นั่นแหละมันพ้นทุกข์ตรงนั้น มันไม่ได้พ้นที่อื่น
ผู้นี้เป็นทุกข์นี่แหละให้พากันกำหนดดูให้รู้ ให้เพ่งลงไปซี่ ให้มันแน่นอนลงไปซี่ เชื่อมันลงไปซี่
สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติรู้เองเห็นเอง จะไปเห็นอย่างไรล่ะ
จิตของเราสบายเราก็รู้ เราไม่สบายเราก็รู้

เอ้า ! ต่อไปต่างคนต่างฟังดวงใจของเรา ได้ความยังไงแล้วพิจารณาให้มันรู้

จากหนังสือ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร โครงการหนังสือบูรพาจารย์ หน้าที่ ๖๑๖

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
๖๑.๐๖.๐๘