ว่าด้วยเรื่องของพรบ.”ต้องขออนุญาตฎีกา”จำกัดสิทธิของปชช.เข้าถึงความยุติธรรมหรือไม่

การที่ศาลยุติธรรมเสนอออกก.ม “ต้องขออนุญาตฎีกา”ก่อนจึงจะฎีกาได้ในคดีผู้บริโภคแล้ว เมื่อเร็วๆนี้ศาลยุติธรรมได้เสนอก.มบังคับนี้ไว้ในคดีแพ่งด้วยและจะออกมาบังคับในคดีอาญาต่อไป

สำหรับเหตุผลที่ทางศาลยุติธรรมต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณคดีที่ค้างสะสมอยู่ที่ศาลฎีกาจำนวนมากนับหมื่นคดี การที่เปลี่ยนระบบเป็นว่า ต้องได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาเสียก่อนจึงจะฎีกาได้ เชื่อว่าจะทำให้จำนวนคดีในศาลฎีกาลดลงและคดีรวดเร็วขึ้น

ขณะที่บางคนในศาลยุติธรรมชี้แจงว่า อาจเป็นการเข้าใจผิดของระบบข่าวสารที่ว่า ศาลต้องการลดจำนวนคดี จึงเปลี่ยนจากระบบสิทธิในการฎีกามาเป็นระบบขออนุญาต เพราะที่จริงแล้วที่ศาลเปลี่ยนมาใช้ระบบขออนุญาตฎีกานั้น เพราะต้องการให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คดีที่จะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงต่อศาลฎีกาได้ ทุนทรัพย์ในคดีที่พิพาทกันจะต้องเกิน 2 แสนบาท แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นระบบใหม่ที่ใช้ระบบอนุญาตให้ฎีกา ทุกคดีฎีกาได้หมด ไม่ว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทจะจำนวนเท่าใด คดีเล็กๆ น้อยๆ คดีที่คนมีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ เช่น บ้านที่อยู่ในชุมชนแออัด หลังละ 4-5 หมื่นบาท ถูกฟ้องขับไล่ อย่างนี้ก็ฎีกาคดีได้

ความเห็นดังกล่าวนี้ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลยุติธรรมจะปรับเปลื่ยนระบบการพิจารณาจากระบบ”สิทธิ”มาเป็นระบบ”ขออนุญาต” ทั้งเหตุผลในเรื่องของคดีจำนวนมากขึ้นสู่ศาลฎีกาก็ดี หรือเหตุผลที่จะทำให้คดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่ถึงสองแสนบาทสามารถฎีกาได้ก็ดี

เพราะเมื่อพิจารณาเหตุผลดังกล่าวแล้ว ไม่ได้ทำให้ความยุติธรรมเกิดได้มากขึ้นตามเจตนารมย์ของการออกก.ม
แต่กลับเป็นการ1.ออกมาเพื่อศาลฎีกาจะได้ทำงานน้อยลง 2. ตัดสิทธิที่ปชช.จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามที่ก.ม รัฐธรรมนูญกำหนด ในหลายมาตรา

โดยเฉพาะเรื่องอำนาจตุลาการ ของศาลยุติธรรม ดำเนินการเป็นอิสระจากรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีโดยแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ
1. ศาลชั้นต้น เป็นศาลที่รับฟ้องเริ่มดำนินคดีทุกประเภท
2. ศาลอุทธรณ์ เป็นศาลที่คู่ความได้อุทธรณ์มาจากศาลชั้นต้น
3. ศาลฎีกา เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีแล้ว แต่คู่ความยังไม่พอใจและฎีกาขึ้นมา ซึ่งคดีที่ศาลฎีกาพิพากษาแล้วนั้นให้ถือเป็นที่สิ้นสุด

นี้คือระบบ”สิทธิ”ที่ปชช.จะได้รับ
แต่สิทธินี้หมดไปเมื่อศาลยุติธรรมเสนอขอออกก.มจากสนช.ยุคนี้ มาเป็นระบบ”ขออนุญาตฎีกา”

ทำไมต้องขออนุญาต เมื่อเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ปชช.ควรได้รับตามที่ก.ม รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ก็ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวข้างต้น

หากจำนวนคดีขึ้นสู่ศาลฎีกามากขึ้น 1.ศาลก็ควรจะใช้ระบบวิธีการไกล่เกลี่ยให้มากขึ้นให้สำเร็จขึ้น 2. ศาลควรคัดสรรผู้พิพากษาให้มีความรู้ความสามารถในการตัดสินคดี ในการเขียนคำตัดสินให้ครอบคลุมทุกประเด็นที่มีการสู้คดี และ เป็นผู้พิพากษาที่มีจริยธรรมในการดำรงตนเป็นผู้พิพากษาให้ดีมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น 3. ศาลยุติธรรมควรจะคัดสรรจำนวนผู้พิพากษาให้มีจำนวนมากขึ้น มารองรับ 4. ศาลยุติธรรมอาจจะเพิ่มจำนวนคดีจากเดือนละ60คดีเป็นเดือนละ70คดี ทดแทนการเดินทางไปต่างปทให้น้อยลง

ที่สำคัญคือไม่ควรอนุญาตให้นำคดีกลับไปทำที่บ้าน เพราะจากการประเมินแม้จะดีในแง่การเดินทาง หรือมีความสุขที่ได้อยู่บ้าน หรือคาดว่าจะทำให้ได้เนื้องานมากขึ้น นั้น แต่การทำงานอยู่บ้านทำให้ขาดความกระตือรือร้น ความตั้งใจ เพราะมีสิ่งเร้าหลายอย่างเข้ามา ทำให้การทำงานอาจเร่งรีบตัดสินคดีได้แบบ”ตีหัวเข้าบ้าน”โดยผู้บริหารศาลไม่รู้ แต่คู่ความรู้ รู้แล้วไม่กล้าร้องเรียนต่อกต. รู้แล้วเอาไปด่าลับหลัง สร้างภาพที่ไม่ดีต่อระบบความยุติธรรมของปท.

ข้อดีของการใช้ระบบ”ต้องขออนุญาตฎีกา”เป็นดังที่กล่าวและศาลยุติธรรมเตรียมองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 18 คน ทำหน้าที่พิจารณาว่าคดีใดจะอนุญาตให้ฎีกาหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ฎีกาได้หรือไม่ ไม่ใช่ดูแค่ผิวเผิน แต่ดูลงลึกไปในรายละเอียดของคดีเหมือนกับพิพากษาคดี โดยในจำนวนนี้ มีประธานแผนกคดี 1 คน ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคุมคดี นอกนั้นยังมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาหลายคณะด้วย นั่นเท่ากับว่า คดีหนึ่งได้รับการตรวจสอบจากคนถึง 18 คน ซึ่งมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งผู้พิพากษาองค์คณะมีเพียง 3 คน นอกจากนั้นในกรณีที่อนุญาตให้ฎีกาได้ ก็จะส่งสำนวนคดีไปให้องค์คณะ 3 คน พิจารณาอีกที

image

ฃึ่งดูเหมือนจะดี แต่ในแนวทางปฎิบัติจะเป็นไปได้ตามนี้ คงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเรื่องง่ายๆใช้องค์คณะ 3 คน ยังทำไม่ได้ทัน แต่ใช้18คนพิจารณาคดีภายในสองเดือนถึงหกเดือนต่างคนต่างความเห็นกรอบเวลาในการทำงานเร่งรีบ การพิจารณาจะเป็นธรรมหรือไม่

คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ฎีกา เพราะเหตุไม่มีประเด็นต่อสาธารณะในคดีผู้บริโภครายหนึ่งที่ฟ้องร้องหน่วยงานรัฐในคดีทางการแพทย์ย่อมชี้ชัดว่าการใช้ระบบขออนุญาตเกิดผลดีหรือผลเสีย

ในมุมมองของปชช.และผู้เสียหาย อาจกล่าวได้ว่า เป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เนื่องเพราะเกี่ยวกับการรักษา เนื่องเพราะการรักษาส่งผลให้มีการคลอดตายทั้งแม่ทั้งลูก

ทั้งที่ในปัจจุบันปัญหานี้ไม่ควรจะเกิด เพราะไม่ใช่สมัยแม่นาคพระโขนงแล้ว

การต้องขออนุญาตฎีกา ผลเสียอีกข้อที่จะตามมาคือ การวิ่งเต้น สมัยก่อนอาจมีการวิ่งเต้นล้มคดี ตัดสินคดี สมัยนี้อาจวิ่งเต้นให้ไม่อนุญาตฎีกา คดีความจะจบลงที่คำตัดสินของศาลอุทธรณ์ ฃึ่งมีอาวุโส มุมมองในการพิจารณาคดี ความรู้ความสามารถ อายุงานน้อยกว่าศาลฎีกา

การเข้าถึงความยุติธรรมของปชช.จึงไม่อาจได้รับการพิจารณาจากผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ และอายุงานที่มากกว่า อาจทำให้คดีนั้นถูกตัดสินไม่เป็นที่ยอมรับของคู่ความ

โดยเฉพาะในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าระบบการตรวจสอบผู้พิพากษาให้ดำรงตนอยู่ในจริยธรรมถูกเพิกเฉย ละเลย คำตัดสิน การใช้ดุลยพินิจ เป็นไปตามอำเภอใจของผู้พิพากษา เพราะระบบให้อำนาจไม่ก้าวล่วง ฃึ่งกันและกัน ทำให้ผู้พิพากษาได้ใจ ตัดสิน มีคำสั่ง ที่คู่ความไม่เห็นพ้อง แม้จะสามารถอุทธรณ์ได้แต่อาจช้าเกินการ เป็นการอยุติธรรมภายใต้การยุติธรรมของระบบ

ในการร้องเรียนคณะกรรมการข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม(กต)ของปชช.รายหนึ่งต่อผู้พิพากษาถึงสี่คน ความจริงคือห้าคน เหตุเกิดที่จันทบุรี สะท้อนได้ชัดเจนว่าปชช.คนนั้นคงจะเหลืออด แต่กลับกลายเป็นว่าผู้ถูกร้องเรียนได้ใช้วิธีการ เรียกตัว เรียกถาม ไปยังหน่วยงานราชการอื่นๆในจังหวัดว่ามีใครบ้างที่โดนปชช.รายนี้ร้องเรียน เพื่อจะดิสเครดิตให้กต.คิดว่าเธอเป็นนักร้อง เชื่อถือไม่ได้

ทั้งนี้หากคณะกรรมการข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม(กต)ได้เห็นเรื่องร้องเรียนข้าราชการเหล่านั้นแล้ว อาจจะรู้สึกว่า ข้าราชการจังหวัดนี้ทำไมจึงกระทำการไม่ชอบได้ถึงเพียงนี้ มิฉะนั้นหน่วยงานนั้นคงไม่ส่งฝ่ายตรวจสอบลงมาดู และผลการตรวจสอบปรากฎผลเป็นไปตามที่เธอร้องและส่งผลไปถึงคำสั่งของผู้พิพากษาที่ถูกร้องเรียนด้วย

จึงเชื่อว่าคณะกรรมการข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมชุดใหม่นี้ ฃึ่งมีความรู้ความสามารถ ทั้งในเชิงกฎหมายและพฤติกรรมของมนุษย์ จะได้ใช้ความยุติธรรม ความดี ให้มีมากกว่าการเป็นพรรคพวกเพื่อนพ้อง น้องพี่ เพื่อรักษาภาพพจน์ที่ดีของผู้พิพากษาส่วนรวมไว้

เพราะอำนาจที่ได้มาหากรักษาไว้ไม่ดี ไม่งาม ย่อมทำความเสื่อมเสีย เน่าเสีย มาสู่องค์กรและตนได้

ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น การออกก.ม มาบังคับใช้ ก็ควรออกมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน

สังคมจึงจะอยู่เป็นสุข

 

พัชรินทร์ วิกิตเศรษฐ