ปปช.ขอใช้ม.44สางงานทุจริตเต็มขั้น
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการหรือเวิร์คช็อปครั้งใหญ่ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีกรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คน เลขาธิการฯป.ป.ช. และผู้บริหารของสำนักงานป.ป.ช. รวมถึงเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. ประมาณ 200 คน เข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมกันหาวิธีปรับปรุงการทำงานของ ป.ป.ช.ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการไต่สวนคดีทุจริตที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปีงบประมาณ 2559 นี้ (ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 – กันยายน2559) จะต้องทำคดีสำคัญให้แล้วเสร็จอย่างน้อย 500 คดี โดยที่ประชุมได้ระดมสมองก่อนมีข้อสรุปร่วมกันราว 30 ข้อ ทั้งการปรับปรุงวิธีการทำงาน รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
แหล่งข่าว กล่าวว่า หนึ่งในข้อเสนอที่สำคัญ ก็คือการแก้ไข พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เพื่อให้ “เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ” ที่มีประสบการณ์ทำงานระดับหนึ่ง หรือเทียบเท่าข้าราชการระดับซี 4-5 มาร่วมทำสำนวนการไต่สวนคดีทุจริตได้ จากที่ปัจจุบันต้องเป็น “เจ้าหน้าที่ระดับชำนาญการ” หรือเทียบเท่าข้าราชการระดับซี 6 ขึ้นไปเท่านั้น เพราะสำนักงาน ป.ป.ช. มีเจ้าหน้าที่ระดับชำนาญการ เพียงกว่า 200คน ทำให้แต่ละคนต้องรับผิดชอบสำนวนมากถึงคนละกว่า 20-30สำนวน หากสามารถผ่องถ่ายงานไปให้กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการได้ จะทำให้การไต่สวนคดีทุจริตเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
“แต่การจะแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและใช้เวลา ต้องเสนอผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกครั้ง ในวงประชุมจึงหารือกันว่าอาจจะใช้วิธีเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557มาตรา 44 ออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ในการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ในประเด็นดังกล่าว เพราะเป็นเพียงการแก้ไขประเด็นเล็กๆ เพียงประเด็นเดียวโดย พล.ต.อ. วัชรพล ระบุว่าหากไปอธิบายกับนายกฯ ว่าการแก้ไขประเด็นนี้จะช่วยให้การไต่สวนคดีทุจริตทุจริตเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ก็เชื่อว่านายกฯจะเห็นด้วย โดย พล.ต.อ. วัชรพล ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปจัดทำร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาให้พิจารณาโดยเร็ว
แหล่งข่าวกล่าวว่า อีกหนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจในการเร่งทำคดีทุจริตให้แล้วเสร็จ ได้แก่การให้รางวัลกับเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่สามารถทำคดีทุจริตขนาดใหญ่หรือมีความซับซ้อนได้แล้วเสร็จ โดยอาจมีการให้เป็นตัวเงิน เช่น ค่าทำสำนวน ซึ่งเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถดำเนินการได้เองเป็นการภายใน เช่น การออกประกาศหรือระเบียบมาบังคับใช้
ใส่ความเห็น