ศักดิ์ศรีและเกียรติยศ ที่สูญหาย
ได้รับหนังสือมาเล่มหนึ่งชื่อว่า” เส้นทาง คนหนังสือพิมพ์ “เนื่องในวันนักข่าว ที่5มี.ค 59
พลิกไปอ่านหน้า166 ฃึ่งคนทำหนังสือเล่มนี้ได้ไปสัมภาษณ์ พี่ ชุติมา บูรณรัชดา อดีตนักข่าว ที่อยู่ในสนามสื่อมานานกว่า40ปี ผ่านร้อน ผ่านหนาว มามากมายหลายยุค หลายสมัย จนมาถึงตำแหน่งทางสังคม “นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย” คนแรกและคนเดียวที่ตกงานจากผลงานของรัฐบาลสมัยนั้น เป็นรัฐบาลชุดไหนต้องติดตามอ่าน
ส่วนตัวเองจำได้ว่า วันที่รัฐบาลชุดนั้นประกาศลดค่าเงินบาท ตัวเองกำลังนั่งอยู่ในห้องรองนายกรัฐมนตรี ท่านหนึ่ง ฃึ่งเพิ่งประชุมครม.เสร็จและเดินเข้ามาในห้องด้วยท่าทีฉุนเฉียว พร้อมกับบอกว่า นี่สนิทกันนะ ขอร้องอย่าเล่นการเมืองเด็ดขาด
มาหาเหตุผลได้หลังออกมาจากการสัมภาษณ์ท่านแล้วจึงรู้ว่ารัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาท ในวันนั้นทำให้ปทไทยเสียหายย่อยยับ คนที่กู้เงินต่างปทเข้ามา คนที่นำเข้าสินค้าเข้ามา ต้องเจ็บแทบกระอักล้มละลายไปตามๆกัน
พี่ชุติมา ขณะนั้นเป็นบรรณาธิการบริหารของนสพ.สื่อธุรกิจ ในเครือเดลินิวส์ เป็นสื่อที่เพิ่งจะเติบโตได้สองปี มาเจอพิษเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงอยู่ไม่รอด จำต้องปิดตัวลง
เป็นความเศร้าใจของคนที่ผ่านการทำข่าวมาอย่างโชกโชน
พี่ชุติมา กับ ผู้เขียน รู้จักกันก่อนหน้านี้ โดยทำข่าวอยู่สายเดียวกัน คือสายทำเนียบรัฐบาล พี่ชุติมา อยู่นสพ.มติชน ส่วนผู้เขียนอยู่นสพ.สยามรัฐ
เราทั้งสองผ่านการปฎิวัติรัฐประหารมาหลายครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่พี่ชุติมา เขียนเล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ คือ เมื่อครั้งมีนายทหารยศพลเอกคนหนึ่งใหญ่คับฟ้า พูดอะไรใครต้องฟัง ใครต้องเกรง ใหญ่จนลืมตัว เป็นแค่ผบทบ.แต่ไปวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล วิจารณ์การทำงานของสื่อ
สื่อสมัยนั้นมีอยู่ไม่กี่คน ไม่กี่ฉบับ แต่สื่อสมัยนั้นมีศักดิ์ศรี มีเกียรติยศ เมื่อถูกก้าวล่วงของคนใหญ่คับฟ้า จึงพากันประท้วงไม่ทำข่าว ส่วนช่างภาพก็วางกล้องกับพื้นเรียงเป็นแถว 2ข้าง เพื่อบอกกับนายทหารระดับสูงนั้นว่า พึงให้เกียรติในการทำงานของเราด้วย
แต่ในปัจจุบันพี่ชุติมา ให้ความเห็นที่ตรงกันกับผู้เขียน และบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับ “เสรีภาพของสื่อในอนาคต”ว่า”วันนี้เสรีภาพของสื่อและเสรีภาพของประชาชนหายไปไหน?”และยังมีความหมายอยู่หรือไม่?
เมื่อไม่มี พี่ชุติมาบอกว่า ยกเลิกไปเถอะ ที่เรารณรงค์กันมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพราะอย่างปทพม่าเขากำลังรณรงค์ปล่อยนักโทษการเมือง (หลังถูกทหารปกครองปทมาช้านานจนปทพม่าแทบหายไปจากสังคมโลก ถูกต่างชาติที่เป็นประชาธิปไตยบอยคอต ทุกๆด้าน เช่นที่ปทไทยกำลังเจอขณะนี้-ผู้เขียน)
แต่ปทไทยเมื่อรัฐไม่พอใจก็เชิญไปปรับทัศนคติ
มันคืออะไรกัน? พี่ชุติมาตั้งคำถาม
และตั้งคำถามที่บาดใจคนเป็นนักข่าวอย่างเราว่า “มีภาพที่เห็นแล้วขัดใจเรามากคือ ทำไมนักข่าวตอนนี้เวลาสัมภาษณ์ ผู้บริหารปทคนหนึ่ง (จะเป็นใครคงไม่ต้องบอกรู้กันอยู่-ผู้เขียน)ต้องนั่งกับพื้นเลย พื้นฃีเมนต์นะ นักข่าวถามแทนประชาชน ทำหน้าที่แทนประชาชน ต้องมีศักดิ์ศรี เรายืนอยู่ในระดับเท่ากับผู้บริหารประเทศนะ เวลาถามคำถามเพื่อให้ผู้บริหารปทมาตอบ ไหนบอกว่ามาเพื่อประชาชนไง แล้วทำไมนักข่าวต้องหมอบราบกันขนาดนั้น ไม่เข้าใจน่ะ”
ศักดิ์ศรี เกียรติยศ ของการทำหน้าที่แทนปากประชาชนหายไปไหน หายไปได้อย่างไร หายไปเพราะเหตุอะไร
ติดตามอ่านได้ในหนังสือชื่อว่า” เส้นทาง… คนหนังสือพิมพ์ ” ฃึ่งรวบรวมความเห็นนานาทัศนะจากนักข่าว นักเขียน รวมไว้ในเล่มนี้ถึง 17 คน
พัชรินทร์ วิกิตเศรษฐ์
ใส่ความเห็น