ท่านทั้งหลายธรรมะนั้นมีอยู่ทุกหนแห่งแต่ว่าคนที่มีปัญญาสามารถจะทำให้เกิดขึ้นแก่เขาได้ แต่คนที่ไม่มีปัญญานั้นแม้จะมานอนติด ๆ กันกับพระไตรปิฏกเขาก็ไม่ได้อะไร แต่คนที่มีปัญญานั้นแม้ว่าเขาจะอยู่ห่างไกลจากตู้พระไตรปิฏกแต่เขามีความรู้ความฉลาดเพราะเขาอาศัยปัญญา

เพราะฉะนั้นปัญญานี้จึงเป็นสิ่งที่นำชี้แจงให้เราเข้าใจ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ

ทำบุญไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ทำสมาธิก็ไม่ได้สักแต่ว่าทำ หรือบำเพ็ญการกุศลอื่นก็ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ

ถ้าหากว่าสักแต่ว่าทำนั้นก็คือเรียกว่าทำไปด้วยความไม่เต็มใจ
การทำด้วยความไม่เต็มใจนั้นผลที่ออกมามันก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

เหมือนกันกับคนที่ปลูกต้นไม้ตามแต่มันจะเกิดเถอะ มันจะเป็นจะตายหรือว่าก็สักแต่ว่าปลูกไป เขาปลูกเราก็ปลูก แต่ว่าไม่รู้จักทำนุบำรุงรักษาต้นไม้นั้น ต้นไม้นั้นมันก็ให้ผลกระปิดกระปอยนิด ๆ หน่อย ๆ บางทีมันก็ตายไป

เช่นเดียวกันกับคนที่มีปัญญาน้อยทำบุญก็สักแต่ว่า ทำสมาธิก็สักแต่ว่า ทำการกุศลต่าง ๆ ก็สักแต่ว่า
เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาก็ได้เหมือนกันบุญ เขาก็ได้สักแต่ว่า ก็คือหมายความว่าได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้แนะนำพวกเราว่า “สุสูสัง ละภะเต ปัญญัง” การที่ฟังนั้นย่อมทำให้เกิดปัญญา

เพราะว่าธรรมะต่าง ๆ นั้นเราอาจจะแสวงหาได้ด้วยการอ่านหนังสือ เราอาจจะแสวงหาได้ด้วยการฟังธรรมที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง เราอาจจะแสวงหาได้ในที่ต่าง ๆ แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้ไปฟังในผู้ที่เป็นนักปราชญ์ ผู้มี่มีความเฉลียวฉลาด ผู้ที่รู้ซึ้งในธรรมะอธิบายธรรมะให้เราฟัง เราก็จะไม่ซาบซึ้ง

เมื่อไม่ซาบซึ้งเราก็ไม่ตรึงใจ
เมื่อไม่ตรึงใจมันก็ไม่สามารถที่จะจดจำข้อความเหล่านั้นได้ ก็เลยขาดไปว่าไม่สามารถจะทำให้เกิดปัญญากว้างขวางต่อไป

แต่คนที่มีความตั้งใจที่จะไปฟังเพื่อที่จะเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านแสดงให้แก่พวกเรานั้นมาเป็นข้อปฏิบัติได้
คนที่ตั้งใจฟังนั้นสามารถที่จะซาบซึ้งในธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพราะว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเปรียบเหมือนอมฤตธรรม

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๓ หน้าที่ ๓๒
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓ /ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

๖๐.๐๙.๒๙