เมื่อเร็วๆนี้มีการแก้ไขกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งใหม่ เป็นประเด็นที่ศาลเสนอขอให้สนช. พิจารณา ” ต้องขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง” นั้นหมายถึงว่า แต่เดิมปชช.ใช้”สิทธิ”ในการสู้คดีได้สามศาลคือ ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ ชั้นฎีกา

แต่ณ บัดนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป การใช้ “สิทธิ”ดังกล่าวเป็นอันหมดสิ้นไป เหลือเพียง สองศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ เท่านั้น แต่หากจะให้ถึงศาลฎีกา จะต้องยื่นเรื่องขออนุญาตฎีกา ก่อน หากไม่ได้รับอนุญาต คดีจบลงที่ศาลอุทธรณ์นั้นทันที

       ฉะนั้นการขออนุญาตฎีกาจึงต้องมีลุ้นให้ใจระทึกว่าจะได้รับการอนุญาตหรือไม่ หรืออาจจะเป็นช่องทางให้เกิดการวิ่งเต้น ในทางคดี ของผู้ที่คิดชั่ว เป็นช่องโหว่ของขบวนการยุติธรรม ที่ศาลอาจไม่รู้เห็น ไม่รู้เท่าทัน

       สำคัญคือเป็นการตัดสิทธิความเป็นธรรมที่ปชช.ควรจะได้รับตามกฎหมายบ้านเมืองแห่งอำนาจของตุลาการที่จะต้องมีสามศาล

แม้สภาทนายความจะเข้าชี้แจงต่อสนช.แล้วก็ตาม แต่สนช.ก็ยังออกกฎหมายแก้ไขนี้มาบังคับใช้ โดยไม่ฟังเสียงของสภาทนาย และ ปชช. แต่กลับรับฟังจากนักล้อปบี้ 6คนประจำสภา

ยิ่งเมื่อราชกิจจานุเบกษาประกาศ ข้อกําหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ ออกมาแล้ว แน่นอนว่าต้องมีการบังคับปฎิบัติ โดยเฉพาะในหมวด ๑ การยื่นคําร้อง
ข้อ ๖ การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นโดยต้องแสดงถึง
(๑) ปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกาโดยชัดแจ้ง และ
(๒) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกานั้นเป็นปัญหาสําคัญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๙ หรือในข้อกําหนดนี้ซึ่งศาลฎีกาควรรับวินิจฉัย

คำถามว่า สังคมจะยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน เพราะความเป็นธรรมของปชช.ลดน้อยถอยลง แต่ศาลมีอำนาจมากขึ้น ด้วยการสร้างข้อกำหนดในการรับฎีกาเป็นกฎเหล็กที่ยากจะได้รับการอนุญาต

เราต้องยอมรับว่าศาลฎีกามีประสบการณ์ความรู้ความสามารถมากกว่าศาลชั้นต้น หรือ ศาลอุทธรณ์ เป็นที่พึ่งสุดท้ายของปชช. แม้ว่าจะมีผู้พิพากษาศาลฎีกาถูกไล่ออกหลายคนในรอบปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่ปชช.ยังยึดมั่นในศาลฎีกา

แต่ต้องมาถูกจำกัดสิทธิด้วยกฎเหล็ก นี้อีก จึงทำให้เกิดกระแสวิพากย์วิจารณ์ กันหนักว่า ศาลฎีกา ต้องการลดคดีขึ้นสู่ศาล  ศาลฎีกาต้องการสร้างอำนาจ ฯลฯ บางความเห็นบอกว่าน่าจะยุบศาลฎีกาทิ้งไปเลย จะได้ไม่เปลืองงบประมาณ

สะท้อนว่าสังคมเริ่มมองความไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของศาลกันแล้ว และ พร้อมจะจับจ้องมองดูจริยธรรมของศาลกันมากขึ้น

ด้วยความเคารพ การแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ของข้าพเจ้าเป็นไปโดยสุจริต แม้ว่าจะมีผู้รู้ทางกฎหมายคัดค้านกันมามากแล้ว ไม่เป็นผล ก็ขอให้ถือว่านี่เป็นเสียงของปชช.คนหนึ่ง ที่ผ่านการมีคดีความมากมาย ทั้งของตนเองและผู้อื่น เห็นว่า ความยุติธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะไปจำกัดสิทธิของปชช. เพราะนั่นหมายถึงปชช.จะไม่มีที่พึ่งสุดท้ายดังที่ใจหวัง

โดยเฉพาะคำว่า “ดุลยพินิจ”เป็นสิ่งที่ปชช.กลัวนักกลัวหนา ว่า ระบบ”สิทธิ” กับ ระบบ”ขออนุญาต”อย่างไหนจะให้ความยุติธรรมให้กับปชช.ได้ดีกว่ากัน

 

กระดุมเงิน