image“มหากาพย์ ว่าด้วย ยกเลิกความผิดเกี่ยวกับยาบ้า”

วันก่อนผมเรียกรถนั่งแท็กซี่ที่หน้าศาล.. จะไปประชุมข้างนอก.. พอขึ้นนั่ง ปิดประตู บอกจุดหมายปลายทางเสร็จ ก็ก้มหน้าอ่านเอกสารเตรียมประชุม..

“พี่..พี่เป็นทนายใช่มั้ย.. ผมมีคำถามครับ พี่ช่วยตอบผมหน่อย..”
คนขับแท็กซี่ ยิงคำถามใส่ผมก่อน

“เอ่อ.. ครับ. มีอะไรครับ”
ผมยังคงก้มหน้าอ่านเอกสารอยู่ ในใจคิดว่า จะตอบถ้าถามเรื่องข้อกฎหมาย

“ผมสงสัยว่า.. ทำไม เค้าไม่เอาพวกมันไปประหารซะให้หมด !” แท็กซี่ถาม

” … อะ. อะไรนะฮะ.. ประหารใครครับ”
ผมเงยหน้าถามด้วยความสงสัย..

“ก็ไอ้พวก ติดยาบ้านั่นแหละพี่.. ไมไม่ประหารมันซะให้หมด..”

ผมไม่ได้ตอบ.. ได้แต่นั่งคิด ..

ทุกวันนี้ สังคมกำลังพูดกันเรื่องการยกเลิกความผิดเกี่ยวกับยาบ้า… หลายคนไม่เห็นด้วย.. หลายคนคงสับสน.. จะยกเลิก ไม่ยกเลิก..
เลยตัดสินใจ เขียนเรื่องนี้.. ลองฟังผมดูบ้าง แต่ก่อนอื่นขอให้ทำใจเป็นกลางๆ.. วางความคิดความเชื่อเดิมลงก่อน… ถ้าท่านไม่เห็นด้วย ก็ไม่เป็นไร.. ขอให้ถือว่าเป็นข้อมูลเพิ่มเติมก็แล้วกัน..

: ย้อนอดีต (จากยาขยัน.. เป็นยาบ้า)
ยาบ้าในปัจจุบัน หลาย 10 ปีก่อน เค้าเรียกว่า “ยาขยัน” .. หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป.. ไม่ผิดกฎหมาย.. ใครจะกินก็ไม่มีใครว่า.. ใกล้สอบแล้ว นอนดึกไม่ไหว.. ก็ซื้อมากินแก้ง่วง.. จะได้อ่านหนังสือได้.. เป็นครั้งเป็นคราว..ก็แค่นั้น
ต่อมา.. คนขับรถสิบล้อ เอามากินบ้าง เพื่อไม่ให้ง่วง จะได้ขับรถได้นานๆวันละหลายๆรอบ.. ทำให้บางครั้งเกิดอาการหลับใน..เกิดอุบัติเหตุเป็นข่าวมากมาย.. สื่อและรัฐบาล เลยจงใจพากันเรียกยาขยันว่า “ยาม้า”.. เพราะกินแล้วคึก เหมือนม้า..
เมื่อคนเอายาขยันมากิน แล้วเกิดปัญหามากขึ้น.. ถ้าเป็นต่างประเทศจะใช้วิธี กำหนดความเร็ว ติด GPS กำหนดโซน เวลาว่าง จัดที่จอดพักให้รถบรรทุก..
..แต่รัฐบาลเราแก้ปัญหาโดยกำหนดให้ยาม้าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามกฎหมาย. เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้คือ ต้องการกำกับดูแลยาที่เป็นอันตราย.. คือต้องให้แพทย์สั่ง ถึงจะมาใช้ได้ ใครจะขายจะครอบครอง ต้องได้รับอนุญาต.. ฝ่าฝืนมีโทษอาญา แต่ไม่หนักมาก..
..ต่อมา ยาม้ากลับแพร่หลาย.. ทุกระนาบของสังคม มีผู้เสพ มีผู้ขายกันทั่วไป ไม่พ้นแม้แต่ในโรงเรียน.. มีการลักลอบผลิต.. มีข่าวว่าใส่สารต่างๆผสมลงไป เช่น ยากันยุง เพื่อให้มึนเมามากขึ้น.. รัฐบาลและสื่อต่างพากันเรียกยาม้าในชื่อใหม่ ว่า “ยาบ้า”.. และใช้คำนี้จนจวบจนปัจจุบัน…

: นโยบายทางอาญากับการแก้ปัญหายาเสพติด… ที่ล้มเหลว..
ปัญหายาเสพติดไม่มีทีท่าจะลดลง.. ในยุครัฐบาลคุณทักษิณ จึงมีการประกาศสงครามกับยาเสพติด ตามหลังนโยบาย War on Drug ของสหรัฐอเมริกา ..
ประเทศไทย ก็มีการแก้ไขกฎหมายให้เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า ออกจากพรบ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ และเอาไปเพิ่มในพรบ.ยาเสพติดให้โทษฯเพื่อให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 มีโทษเท่ากับเฮโรอีน โคเคน และฝิ่น..
(ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายนี้มี 5 ประเภท แบ่งตามความร้ายแรงของยาและโทษ.. ประเภทที่ 1 หนักที่สุด.. ส่วนประเภทที่ 5 เบาสุด เช่น กัญชา กระท่อม)..
ช่วงเวลานั้น คดียาบ้า มาแทนคดีเฮโรอีน และสารระเหย (ผมว่า ดีแล้วเพราะยาบ้าอันตรายน้อยกว่าเฮโรอีนและสารระเหยหลายเท่านัก)
และอีกไม่นานต่อมา.. ก็มีการเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดตามทฤษฎี 3 เหลี่ยมในรัฐบาลชุดเดิม ด้วยการ
1. เพิ่มบทสันนิษฐานเด็ดขาดให้เป็นความผิดฐานจำหน่าย ถ้ามีเมทฯในครอบครองเกินจำนวนสารหรือเม็ดที่กำหนด (15 เม็ด).. แม้ไม่ขาย ก็มีความผิดฐานขาย. จำคุกขั้นต่ำสุดคือ 4 ปีและให้ปรับอีก 400,000 บาท
2. เพิ่มโทษให้สูงถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต เช่น นำเข้าเพื่อจำหน่ายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด..
ศาลบางท่านสนองนโยบายรัฐบาล ก็พิพากษาประหารชีวิตเพราะตีความและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด บางท่านก็เมตตา หาเหตุบรรเทาโทษให้ เป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน
3. สำหรับผู้เสพ ถือว่าเป็นผู้ป่วย.. ต้องไปรักษา (อันนี้แนวคิดดีและถูกต้อง)
4. ตามข้อ 3 จึงออกพรบ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดฯ เลียนแบบ Drug Court ของสหรัฐอเมริกา (อันนี้ไม่ดี.. เลียนแบบไม่เหมือน เพราะเอาผู้เสพไปขังรอในเรือนจำทั่วประเทศ และตัดตอนศาลไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกระบวนการบำบัดทำให้เกิดปัญหามากมาย..เช่น ผู้เสพหลบหนี และผู้ป่วยที่ไม่ร่วมมือ ต้องติดคุกตอนจบอยู่ดี.. แทนที่จะบังคับให้รักษา)
5. ออกกฎหมายวิธีพิจารณาคดียาเสพติด ให้การลงโทษง่ายขึ้นและการดำเนินคดีรวดเร็วขึ้น

: ผลของการใช้นโยบายปราบยาบ้า เป็นอย่างไร
การแก้กฎหมายเหล่านั้น .. ทำให้มีการจับกุมผู้กระทำผิดมากขึ้น.. ช่วงปี 2545 มีปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลทั่วประเทศ ปีละประมาณ 1 ล้านเรื่อง เป็นคดีอาญาราว 60% ในส่วนของคดีอาญานี้เป็นคดียาบ้าราว 60-70 %..

: กระบวนการตีตราทางสังคม
การเรียกยาขยันว่า ยาบ้า.. การออกแต่ข่าวคนร้ายเมายาบ้า แล้วหลอน.. จับคนดีเป็นตัวประกัน หรือไปทำผิดอื่นๆทางสื่อบ่อยๆ.. ทำให้สังคมเกิดความคิดด้านความเกลียดชังผู้ค้า ผู้เสพ เห็นว่าเมทฯเป็นสารอันตราย ทำให้คนเป็นบ้า.. ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการตีตราทางสังคม (Label Theory)
การที่สังคมตีตราผู้กระทำผิด เมื่อเขาเหล่านั้นรับโทษออกมาแล้ว.. สังคมจะไม่เปิดโอกาสให้เขามาทำงานหรืออยู่ร่วมกัน ..ทำให้เขาเหล่านั้นต้องย้อนกลับไปกระทำผิดซ้ำ. ต้องรับโทษ.. เมื่อออกมา ก็ถูกตีตราอีก ..วนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย
เมื่อเราบัญญัติว่า ยาบ้าเป็นความผิด (Criminalization) ตำรวจก็ต้องจับ.. เมื่อกฎหมายบังคับให้ศาลลงโทษขั้นต่ำและปรับ.. จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าไปอยู่ในเรือนจำมากขึ้น.. นักโทษล้นเรือนจำ จึงเป็นผลธรรมดาที่เกิดขึ้น..
นอกจากนี้ ตามทฤษฎีการลงโทษที่จะทำให้สังคมสงบสุขนั้น .. โทษที่ลงจะต้องได้สัดส่วนกับความชั่วร้ายในใจ (malice/ mens rea) และเป็นโทษที่เหมาะสมกับความผิด..
ถ้าเป็นความผิดที่มีความชั่วร้ายในใจมาก คนทำรู้แก่ใจว่าชั่ว (Mala In se) เช่น ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฆ่า ข่มขืน.. ก็ต้องลงโทษสถานหนัก..
ถ้าไม่มีความชั่วร้ายในใจเลย หรือมีความชั่วร้ายน้อย.. แต่เป็นความผิดเพียงเพราะกฎหมายบอกว่า ผิด (Mala Prohibita) เช่น ผิดกฎจราจร ต้องลงโทษไม่หนักเกิน..
ยาบ้า..เดิมทีคือยาขยัน .. คนเสพไม่มีเจตนาชั่วร้าย ก็ไม่สมควรที่จะต้องรับโทษหนัก..
การตีตราว่า ยาบ้ามีความชั่วร้าย.. การที่ยาบ้าถูกวาดภาพให้น่าหวาดกลัว.. ผู้จำหน่ายต้องเอาไปฆ่า.. ผู้ค้ารายย่อยต้องเข้าคุก.. ผู้เสพ คือคนโรคจิต
ทำให้ สังคมเราต้องแบกรับปัญหา และผลกระทบมากมาย.. ทั้งปัญหาจากนโยบายที่ไม่ถูกต้อง.. ปัญหาของยาบ้าที่ขยายตัว.. และปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกแก้ไข..

: ยาบ้าคืออะไร
แท้จริงแล้ว ชื่อเป็นทางการของยาบ้า ก็คือ “เมทแอมเฟตามีน” (Methamphetamine) ในโรงศาล เค้าก็เรียกกันแบบนี้.. ไม่มีการเรียกว่า ยาบ้าตามสื่อ หรือกระแสสังคม..(แต่ในที่นี่ขอเรียกว่ายาบ้าเพื่อความสะดวก)..
.. ยาบ้า เมื่อเสพแล้ว จะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท…

: ยาบ้ามีส่วนผสมอะไรบ้าง
ถ้าเป็นยาบ้าปกติ ในยา 1 เม็ดจะประกอบด้วย สาร 3 อย่าง ได้แก่
1. สารเมทแอมเฟตามีน..จำนวนน้อยมาก (0.02 มล.. อะไรประมาณนี้) ส่วนนี้เท่านั้นที่ผิดกฎหมาย
2. ผงแป้ง (อาจผสมสี กลิ่นด้วย)
3. สารตัวประสานให้แป้งกับเมทฯเข้ากัน (จากการสอบถามผู้ตรวจพิสูจน์)

: ยาบ้ากินแล้วบ้า หลอน ทำให้คลุ้มคลั่งฆ่าคนได้ จริงมั้ย
..ความจริงแล้ว สารเมทแอมเฟตามีน .. เมื่อเสพแล้ว เวลาออกฤทธิ์ จะเรียกว่า “ดีด” จะทำให้ตื่นตัว ไม่ง่วงนอน.. และอยู่ไม่สุข.. แค่นั้นเอง.. คนเสพนานๆอาจจะติด แต่ที่ติด มักเป็นเรื่องติดที่ใจมากกว่า ติดทางร่างกาย ต่างจากเฮโรอีน
… แต่การที่คน”ดีด” จนไม่ได้นอนหลับ ไม่ว่าด้วยเหตุใดนั้น.. ในบางคนจะทำให้การหลั่งสารเคมีในสมองผิดปกติ.. เกิดอาการหูแว่ว ประสาทหลอนได้
ดังนั้น ผู้เสพเมทฯที่เสพมาหลายปี.. จะอดนอนบ่อยๆ และนานเข้า ก็มีผลทำให้สารเคมีในสมองหลั่งผิดปกติเช่นกัน..
การหูแว่ว หรือเห็นภาพหลอน จึงเกิดจากการไม่ได้นอน มิใช่เกิดจากสารเมทแอมเฟตามีนโดยตรง.. คนไม่เสพ ก็อาจจะหลอนได้ บ้าได้เหมือนกัน
ทั้งนี้ การแว่ว การหลอนของผู้เสพ ก็อาจต่างกันตามปัจจัยพื้นฐานของแต่ละคน.. คนที่ชอบความรุนแรง ต่อยตีกับคนอื่นมาก่อน ก็มักแว่วหลอนว่าจะมีคนมาทำร้าย.. คนที่รักสนุก ชอบเที่ยว ก็อาจจะแว่วเสียงผู้หญิงหรือเห็นสาวมาชวนไปเที่ยว.. คนที่มีอารมณ์ศิลป์ บางคนชอบธรรมชาติ ก็อาจจะออกไปแหงนดูดาวตอนกลางคืน.. ฟังดาวคุยกัน .. (จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับคนใช้ยา)
ถ้าผู้ผลิตยาบ้าใส่ส่วนผสมอื่นเข้าไป.. อันตรายจากส่วนผสมอื่นนั้นก็อาจเกิดขึ้นตามคุณลักษณะของสิ่งแปลกปลอมนั้น..
ในมุมมองแบบแนวคิดการลดทอนอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) จึงเห็นว่า ผู้เสพเมทฯที่ยังเลิกไม่ได้ ควรหันมาเสพยาไอซ์ดีกว่า.. เพราะ ไอซ์ ก็คือเมทแอมเฟตามีนบริสุทธิ์ที่ไม่ได้ผสมอะไรลงไป.. ทำให้ปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่าการเสพยาบ้าที่ผสมสิ่งแปลกปลอม..

: ยาบ้าร้ายแรงแค่ไหน
ผมเคยเป็นวิทยากรร่วมกับคุณหมอท่านหนึ่ง ในงานสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับยาเสพติด เสียดายที่จำชื่อคุณหมอท่านนั้นไม่ได้.. แต่จำได้ว่าคุณหมอนำเสนอผลงานวิจัยที่ฝรั่งทำเกี่ยวกับยาบ้าว่า เมื่อเทียบกับยาเสพติดอื่นแล้ว.. ยาบ้ามีอันตรายแค่ไหน
งานวิจัยจัดลำดับความร้ายแรง 10 อันดับ ตั้งแต่เหล้า บุหรี่ จนถึงเฮโรอีนโดยวัดจากปัจจัย 3 ตัว ได้แก่ เป็นอันตรายต่อผู้เสพ เป็นอันตรายต่อผู้อื่น และความยากง่ายในการติด..
ผลคือ เฮโรอีนเป็นลำดับที่ 1 อันตรายสูงสุดทั้ง 3 ปัจจัย.. แต่ยาบ้าจะอยู่ราวอันดับ 4 (หรือ 7 จำได้ไม่ถนัด).. ที่สำคัญคือ บุหรี่เป็นอันตรายต่อผู้เสพ และติดง่ายกว่ายาบ้าครับ.. งานวิจัยเหล่านี้ เป็นความจริง ไม่ใช่ความเชื่อ
เป็นความจริงที่รัฐและสื่อควรนำเสนอ ให้สังคมเห็นทั้ง 2 ด้าน.. มิใช่นำเสนอแต่ผลร้ายตามข้อเท็จจริงเพียงด้านเดียว

: โทษหนัก ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาหรือ
โทษหนัก อาจทำให้สังคม สะใจ.. แต่ความพอใจ ไม่ช่วยแก้ปัญหา.. ตามทฤษฎีอาชญาวิทยาแล้ว คนที่ทำผิดจะคิดข้อดีข้อเสียก่อน หากมีข้อเสียมากกว่า ก็จะเลือกที่จะไม่ทำผิด แต่แนวคิดนี้ ข้อเสียนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องโทษสูงหรือต่ำ.. เพราะในต่างประเทศ เคยมีนักวิจัยค้นคว้าศึกษาว่า การลงโทษหนักจะมีผลยับยั้ง (deterrance) การทำผิดหรือไม่..
ผลการวิจัยพบว่า ไม่มีผลอย่างนัยสำคัญ.. แต่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มีผลในการป้องปรามมากกว่า เพราะผู้กระทำผิด จะไม่ทำ ถ้าทำแล้ว ต้องถูกจับแน่ๆ .ไม่ว่าโทษจะเบาหรือหนักก็ตาม

: แนวทางแก้ไข (จะ Legalization หรือ Decriminalization ดี?)
การแก้ไขปัญหายาบ้า.. ่ต้องบูรณาการ แก้ปัญหาสังคม ไปพร้อมกับการรณรงค์ให้ความรู้ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และแก้ไขกฎหมายให้ถูกทาง
ในส่วนของการแก้ไขกฎหมายนั้น.. จะยกเลิกความผิด ในขณะที่สังคมยังเชื่อว่ายาบ้าเลวร้าย คงไม่เหมาะสมและจะมีกระแสคัดค้านมาก..
การแก้ไขพรบ.ฟื้นฟูฯให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เน้นการบำบัดรักษาโดยให้โอกาสไปบำบัดเองก่อน และให้กระทรวงสาธารณสุขมารับผิดชอบ แทนกรมคุมประพฤติ เป็นต้น
ยกเลิกโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตในบางฐานความผิด . ลดโทษจำคุกลง. ยกเลิกข้อสันนิษฐานว่าจำหน่าย.เป็นต้น กระบวนการแบบนี้ ไม่ใช่การทำความผิด ให้เป็นความถูก..
เพียงแค่การลดทอนความผิด หรือความเป็นอาชญากรรมลง เรียกว่า กระบวนการนี้ว่า “Decriminalization”
อีกแนวทางหนึ่งที่อาจจะพิจารณานำมาใช้.. ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่ ต้องพิจารณาอีกหลายประเด็น และน่าจะห่างไกลความเป็นไปได้.. เรียกว่า การยกเลิกความผิด คือทำสิ่งผิดกฎหมาย ให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายทั้งหมด ที่เรียกว่า “Legalization”.. โดยการออกกฎหมายมายกเลิกความผิดเลย
ในต่างประเทศ มีการแก้ไขกฎหมาย ให้กับยาเสพติดบางประเภท เช่น ยาบ้า กัญชา กัญชง กระท่อม ทำให้มีการจำหน่าย และเสพได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เช่น ขายได้เฉพาะในพื้นที่ ตามเวลา หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนด การซื้อขาย การครอบครอง การเสพต้องไม่ทำในที่เปิดเผย เป็นต้น หากฝ่าฝืนก็มีโทษทางอาญา
กล่าวคือ มีการเสพ ครอบครอง ผลิต จำหน่าย ได้ภายใต้ความควบคุมและกำกับดูแลโดยรัฐ รูปแบบนี้ ยังถือว่าเป็น กระบวนการแก้ไขกฎหมายเพื่อลดทอนความเป็นอาชญากรรมที่เรียกว่า “Decriminalization”
ข่าวที่รัฐบาล กำลังออกมาในเชิงวัดกระแสสังคมอยู่ในขณะนี้ จึงเป็นเพียงแค่ ลดทอนความผิดยาบ้าครับ.. ยังไม่ถึงขนาดยกเลิกความผิดโดยบริบูรณ์..

.. ถ้าพี่แท็กซี่ ได้อ่านข้อเขียนนี้ ..คงจะสบายใจขึ้นบ้างนะครับ .. 555

(จะฆ่าใคร.. โดยไม่ไตร่ตรอง.. ไม่ได้นะครับ.. 555)