ศาลยุติธรรมยันเปิดทำการปกติแต่เพิ่มระบบอีเลคทรอนิกส์เต็มรูปแบบ
วันนี้ (11 ก.ค.) นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ด้วยปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยยังคงรุนแรง มีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ในส่วนของศาลยุติธรรมซึ่งต้องดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาคดีเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่มีอรรถคดีย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับปัญหาในการปฏิบัติงานเช่นเดียวกัน เนื่องจากในแต่ละวันจะมีคู่ความและผู้เกี่ยวข้องเข้ามาใช้บริการในศาลเป็นจำนวนมาก
นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้เน้นย้ำให้บุคลากรของศาลยุติธรรมทุกคนปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่มาติดต่อราชการและบุคลากรศาลยุติธรรมเป็นสำคัญ และเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติให้จำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของบุคคลขั้นสูงสุดและงดการเดินทางที่ไม่จำเป็น
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการคดีและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ขณะนี้ดำเนินการไปได้ด้วยความเรียบร้อย ไม่เกิดความล่าช้า และคู่ความสามารถดำเนินคดีได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ศาลยุติธรรมได้ปรับตัวเพื่อทำงานในรูปแบบวิถีใหม่ (new normal) เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมยังคงดำเนินต่อไปได้ด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและการพิจารณาพิพากษาคดี รวมทั้งการกำหนดมาตรการต่างๆ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เกี่ยวข้องในคดีทุกฝ่ายเพื่อไม่ให้การพิจารณาคดีต้องล่าช้าหรือชะงักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ศาลยุติธรรมจึงได้ออกประกาศแนวทางการบริหารจัดการคดี ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12-30 ก.ค. 2564 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ดังนี้
1. คดีที่ยกเลิกวันนัด ได้แก่ คดีจัดการพิเศษ คดีสามัญ และคดีสามัญพิเศษ ที่นัดไว้ในระหว่างวันที่ 12-30 ก.ค. 2564 ซึ่งรวมถึงคดีอาญาที่นัดสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ คดีแพ่งที่คู่ความฝ่ายโจทก์แสดงความประสงค์ล่วงหน้าไว้ฝ่ายเดียวว่าจะใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์และคดีที่นัดนอกเวลาราชการในช่วงเวลาดังกล่าว
2. คดีที่ไม่ยกเลิกวันนัด ได้แก่ คดีที่อยู่ในข้อยกเว้นตามประกาศ ซึ่งมี 4 ประเภท ดังนี้
– คดีไม่มีข้อพิพาทที่ไม่มีผู้คัดค้านและศาลสั่งอนุญาตให้ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เช่น คดีร้องขอจัดการมรดก
– คดีที่คู่ความทั้งสองฝ่ายแสดงความประสงค์และศาลอนุญาตไว้ก่อนวันที่ 12 ก.ค. 2564 แล้วว่า จะสืบพยานโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเวลาดังกล่าว
– คดีที่นัดไกล่เกลี่ยโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้
– คดีนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลสูง สำหรับคดีอาญาให้ดำเนินการตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วย การดำเนินคดีอาญาในศาลที่เกี่ยวกับผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหรือสถานที่กักขังในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
3. งานที่ดำเนินการไปตามปกติ ได้แก่
– การรับฟ้อง ฝากขัง ฟื้นฟู หมายจับ หมายค้น การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว
– คดีนัดสอบคำให้การ (เวรชี้) และคดีนัดคุ้มครองสิทธิ สำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องขัง ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ
– คดีที่คู่ความขอไกล่เกลี่ยโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
คดีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น การไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวโดยฉุกเฉินการสืบพยานล่วงหน้า
4. คดียื่นคำฟ้องใหม่ นับตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2564
– คดีแพ่งและคดีผู้บริโภค ให้กำหนดวันนัดพิจารณาเฉพาะกรณีที่คู่ความฝ่ายโจทก์พร้อมที่จะใช้วิธีพิจารณาทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยระบุไว้ในหมายเรียกให้ชัดเจนว่า ศาลจะนำวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เพื่อให้จำเลยสามารถใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน สำหรับโจทก์ที่ยังไม่พร้อมที่จะใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เจ้าหน้าที่รับคำฟ้องไว้ แต่ยังไม่กำหนดนัดพิจารณา โดยให้ประสานงานสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับความพร้อมของโจทก์เป็นระยะๆ
– คดีอาญาที่ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ ควรกำหนดจำนวนคดีที่จะนัดใหม่ไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนที่กำหนดนัดได้ในภาวะปกติ และให้ดำเนินการเฉพาะคดีที่สามารถประสานกับทางเรือนจำว่ามีความพร้อมที่จะใช้วิธีสืบพยานในลักษณะการประชุมทางจอภาพหรือทางแอปพลิเคชั่นที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนด
“ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ศาลยุติธรรมยังคงมาตรการเข้มงวดในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคฯ อย่างเคร่งครัดเสมอมา เพื่อสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัยให้ผู้มาติดต่อราชการศาลและบุคลากรในหน่วยงานสังกัดศาลยุติธรรม โดยหากประชาชนที่จำเป็นต้องติดต่อราชการศาลแต่มีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว สามารถเลือกใช้ช่องทางระบบออนไลน์ต่างๆ ที่ศาลยุติธรรมพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดการเดินทาง และอำนวยความสะดวกให้กับคู่ความและประชาชนที่ต้องติดต่อราชการศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชน คู่ความ และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะทนายความให้ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการติดต่อและดำเนินคดีตามแนวทางที่ศาลยุติธรรมกำหนด ซึ่งศาลยุติธรรมทั่วประเทศและสำนักงานศาลยุติธรรมพร้อมให้คำแนะนำช่วยเหลือคู่ความ ประชาชน และทนายความ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินคดีในรูปแบบใหม่และผ่านอุปสรรคในครั้งนี้ไปได้อย่างปลอดภัย”
ใส่ความเห็น