หลวงพ่อได้ข้อเปรียบเทียบว่าพระพุทธศาสนานี่เหมือนกับต้นไม้ต้นหนึ่ง

ต้นไม้มันจะมีองคาพยพ เขาเรียกรวมกันเป็นต้น
รวมกันเป็นต้นก็คือใบ กิ่ง ยอด ก้าน เปลือก กระพี้ แก่น ราก ๘ อย่าง

ทีนี้เราพุทธศาสนิกชนนี่ก็เท่ากับว่ารักษาต้นไม้ต้นนี้

แล้วคนที่จะเป็นกิ่งก็เป็นไป ใครจะเป็นใบก็เป็นไป ใครจะเป็นยอดก็เป็นไป ใครจะเป็นกระพี้ก็เป็นไป ใครจะเป็นแก่นก็เป็นไป ใครจะเป็นรากก็เป็นไป
แต่ว่าทุกส่วนของต้นไม้มีความสำคัญทั้งหมด ขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปแล้วต้นไม้จะอยู่ไม่ได้

เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นใบก็หมายความว่าเรายังมีศีลอยู่
ถ้าเราเป็นกิ่งก็หมายความว่าเรามีความสามารถเพิ่มขึ้นคือสามารถที่จะขยายธรรมะของพระพุทธเจ้าออกไปได้
ใครเป็นยอดคนนั้นก็ถือว่าปฏิบัติชั้นสูงแล้วสามารถบรรลุธรรม
ใครจะเป็นกระพี้ก็ทำบุญทำทานไป
ทีนี้ก็ยังมีอีกว่าทำบุญนี่บางคนทำน้อย ทำน้อยก็เป็นเปลือกไป ถ้าทำมากก็เป็นกระพี้ไป
ถ้าหากว่าปฏิบัติสมาธิก็เป็นแก่นไปแล้วทีนี้
ถ้าหากว่าทำสมาธิได้ลึกซึ้งก็เป็นรากลงรากแก้วเลยอย่างนี้

นี่ก็เปรียบอย่างนั้น แต่ว่าต้นไม้ทั้งต้นนี่ไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่ากัน มีความดีของต้นไม้นี่จะเสมอกัน ใครจะทำแค่ไหนก็ถือว่าเป็นพุทธศาสนิกชนเช่นเดียวกัน

ท่านทั้งหลาย เราต้องพยายามรักษาศรัทธาของเราไว้ให้มั่นคง
ศรัทธาแล้วก็ต้องมีปัญญาด้วย
ปัญญานั้นก็คือว่าเราจะศรัทธาแบบที่ว่า “ทำบุญให้โทษ โปรดสัตว์ได้บาป” ไม่ได้

ท่านว่าการที่จะทำบุญมีศรัทธาเราก็ต้องมีปัญญาไว้สำหรับกำกับด้วย

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๔ หน้าที่ ๒๑๓
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

๖๐.๐๘.๒๓