คณะอนุกรรมาธิการ เศรษฐกิจการเงินและการคลัง ประชุมรับฟังปัญหาอุปสรรคในการเรียกเก็บภาษีของรัฐต่อการค้าการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่ปชช.คือผู้รับภาระภาษีทั้งหมดไว้นั่นเอง

image

นาย ศิริพล ยอดเมืองเจริญ

 

คณะอนุกรรมการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดย นายศิริพล  ยอดเมืองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมาธิการได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาเพื่อพิจารณาการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร การจัดเก็บภาษีอากรตามกฎหมายสรรพสามิต และการจัดเก็บภาษีอากรตามกฎหมายศุลกากรในปัจจุบันเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของภาคเอกชนอย่างไร

โดยผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า
๑. ภาษีสรรพากร เห็นว่าควรมีการแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีการขายฝากทรัพย์สิน เนื่องจากปัจจุบันเป็นการจัดเก็บภาษีดังกล่าวไว้ล่วงหน้า ซึ่งถือว่าผิดหลักการของการจัดเก็บภาษี เพราะเมื่อยังไม่มีการซื้อขายจริง ภาระภาษีย่อมจะยังไม่เกิดขึ้น ส่วนกรณีการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากผู้ประกอบการ SMEs เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการเตรียมความพร้อมและเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดเก็บภาษีดังกล่าวไม่มีปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นในอนาคต

๒. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บทนิยามคำว่า “สิ่งปลูกสร้าง” ควรจะมีการตีความให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความเรื่องโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจากเห็นว่าโรงกลั่นน้ำมันอยู่ในความหมายของสิ่งปลูกสร้างแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับตัวอาคาร และมีอยู่ในขณะที่มีการออกแบบด้วย

๓. ภาษีสรรพสามิต อาทิ กรณีการจัดเก็บภาษีสินค้าประเภทเครื่องปรับอากาศ ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่นอนและชัดเจน กรณีการจัดเก็บภาษีสินค้าประเภทเครื่องดื่มน้ำผลไม้ ควรมีการพิจารณาจัดเก็บภาษีที่ปลายทาง ไม่ใช่จัดเก็บที่ต้นทาง และกรณีการจัดเก็บภาษีสินค้าประเภทแบตเตอรี่ในปัจจุบันเป็นการจัดเก็บภาษีที่มีความซ้ำซ้อนกันระหว่างการจัดเก็บภาษีจากสินค้าแบตเตอรี่เอง และการจัดเก็บภาษีสินค้าแบตเตอรี่จากรถยนต์ด้วย

๔. ภาษีศุลกากร ประเด็นเรื่องเงินสินบนรางวัลเห็นว่า ควรคงไว้ตามเดิมแต่จะต้องกำหนดเงื่อนไข ในการกระทำผิดกฎหมายศุลกากรไว้อย่างชัดเจนว่ากรณีใดเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา และกรณีใดเป็นการกระทำความผิดโดยไม่เจตนา ส่วนความเห็นของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) เห็นว่า ควรให้ยกเลิกเงินสินบนรางวัลทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากกรณีดังกล่าว (การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่)

ส่วนทางตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสนอว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับกรมสรรพสามิตในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายภาษีสรรพสามิตที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยยกร่างกฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ เนื่องจากกฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับปัจจุบันมีปัญหาอุปสรรคหลายประการ อาทิ 
๑. การตีความกฎหมายกฎระเบียบของเจ้าหน้าที่ (การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่)
๒. การปรับขึ้นอัตราภาษีที่ไม่มีความแน่นอนชัดเจน
๓. การปฏิบัติตามกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพสามิตมีความยุ่งยากซับซ้อน

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้พิจารณาร่างกฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เห็นว่า มีข้อที่ควรนำมาประกอบการพิจารณา ดังนี้
๑. การกำหนดอัตราภาษี ควรมีการพิจารณาเรื่องความสมดุลประกอบด้วย กล่าวคือ พิจารณาทั้งด้านรายได้ของรัฐ และด้านความสามารถในการบริโภคสินค้าของประชาชน เพื่อมิให้มีการผลักภาระให้แก่ประชาชนมากเกินสมควร
๒. การปรับขึ้นอัตราภาษี ควรมีความชัดเจนและแน่นอน เนื่องจากในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน
ผู้ประกอบการจะต้องมีการวางแผนภาษีเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของตนสามารถดำเนินการต่อไปได้
๓. การกำหนดให้ใช้อัตราภาษีใหม่ เมื่อมีการประกาศใช้บังคับกฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ควรมีการจัดเก็บภาษีในอัตราเดิมไปพลางก่อน จากนั้นจึงเริ่มทยอยปรับใช้อัตราภาษีใหม่แบบค่อยเป็นค่อยไป

 

อย่างไรก็ตามในประเด็นดังกล่าวเหล่านี้ ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า ผลสรุปต่อไปคือ ปชช.เป็นผู้รับภาษีทั้งหมดอยู่นั่นเองโดยเฉพาะประเด็นเรื่องภาษีน้ำผลไม้ ซึ่งหากรัฐบาลต้องการส่งเสริมสุขภาพของปชช ภาษีน้ำผลไม้ชนิด100% ไม่ผสมน้ำควรที่จะงดภาษี หรือจัดเก็บในอัตราที่ต่ำ

สำหรับสินบนนำจับนั้น ตนเห็นว่า ควรที่จะคงไว้ มิฉะนั้นเชื่อว่าจะมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้นมาแทนที่มากมาย จนข้าราชการอาจถูกประหารชีวิตไปทั้งหมดของกรมกองศุลการกรก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามหากข้าราชการเหล่านี้กระทำการใช้ดุลยพินิจไม่เป็นธรรม ก็น่าจะมีบทลงโทษที่หนักกว่าข้าราชการทั่วไปหรือไม่ก็ต้องเขียนกรอบในการใช้ดุลยพินิจให้รัดกุมละเอียด เพื่อมิให้ภาคเอกชน ปชช ต้องมารับกรรมโดยไม่ถูกต้อง