ธรรมะสวัสดี – คุณภาพ
คุณภาพ
คำว่าคุณภาพ แบ่งได้ 2 ลักษณะ คุณภาพดี คุณภาพไม่ดี
ตัวอย่าง ผลผลิตดี มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของลูกค้า
ตัวอย่าง ผลงานดี มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของผู้เกี่ยวข้อง
ตัวอย่าง คนดี มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของสังคม เป็นที่ต้องการของครอบครัว เป็นที่ต้องการของประเทศชาติบ้านเมือง เป็นที่ต้องการของโลก
เรื่อง คุณภาพที่ดีนี้เป็นเรื่องใหญ่ ในหลักสากลนั้นเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งจัดทำเป็นมาตรฐานสากล
คุณภาพที่จะดีได้นั้น มีเหตุที่มา ต้นเหตุที่สำคัญ คือ คน ที่มีใจคิดถึงการทำงานอย่างมีคุณภาพ
เมื่อกล่าวถึงคนในองค์กร หรือหน่วยงานใด ๆ ย่อมไม่พ้นผู้นำที่จะกำหนดทิศทางและจัดทำระบบการบริหารงานคุณภาพไว้ ให้ผู้ร่วมงานตระหนักถึง และนำไปปฏิบัติ ด้วยความตั้งใจ
หากต้องการความสำเร็จ ในด้านคุณภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จอื่น ๆ ที่จะตามมา
ธรรมที่ควรศึกษาและนำมาปฏิบัติ คือ อิทธิบาท 4 ประกอบด้วย ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ ความเพียร จิตตะ ความใส่ใจ วิมังสา ความใคร่ครวญ ความไตร่ตรอง
จะว่าง่ายก็ง่าย แต่จะว่ายากก็ยาก เหตุเพราะที่ขาดความตั้งใจ รักษาความตั้งใจไว้ไม่ได้ ไม่มีความเพียร คิดแล้วไม่ทำ ไม่เอาใจใส่ ไม่ติดตามงานแก้ไขป้องกันปรับปรุงพัฒนาตามโอกาส
นี้เป็นหลักการพื้นฐาน เป็นพื้นฐานที่ละเลยไม่ได้
แต่ส่วนสำคัญสิ่งหนึ่งคือ ใจคน หากไม่มีพลังใจ ยากที่จะทำอะไรได้สำเร็จ กำลังใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก สิ่งดีใคร ๆ ก็อยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น แต่กำลังใจไม่พอ แม้จะรักษาความตั้งใจไว้ แต่หากเราได้สร้างกำลังใจให้กับตน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง คุณภาพที่ดีของคน คุณภาพดีของงาน คุณภาพดีของผลงานเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ด้วยเหตุที่ว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธานที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จ ควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องดูแลใจ ให้มีสุขภาพใจที่ดี ฝึกใจ ให้มีสมาธิ มีความรอบคอบ มีสติ และมีปัญญา
รังสรรค์ อินทร์จันทร์
ที่ปรึกษา งานพัฒนาบุคคลสู่ความเป็นเลิศ
25/04/59
ใส่ความเห็น