imageวันก่อนไปนั่งคุยปรับทุกข์กับคนเป็นลูกหนี้ เธอชี้ให้เห็นว่า คนเป็นลูกหนี้ถูกรังแกจากกรมบังคับคดีหลายเรื่อง โดยพยายามขอแก้ไขกฎหมายให้เอื้อกับตนเองและเจ้าหนี้ในทุกด้านๆ อาทิ มาตรา309 ทวินี่กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดให้การขายทอดตลาดทรัพย์ ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้มีส่วนได้เสีย ที่ไม่พึงพอใจในราคาขายทอดสามารถร้องคัดค้านราคาขายได้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องเลื่อนการขายออกไปในนัดหน้าเพื่อให้ผู้ค้านราคาหาผู้ฃื้อมาฃื้อในนัดหน้า

เดิมที่ปฎิบัติกันมาแต่โบราณก่อนมีการแก้ไขระเบียบนี้ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้มีส่วนได้เสีย สามารถใช้สิทธิค้านราคาขายทอดทรัพย์ได้ตามที่ตนเองต้องการ
แต่ปัจจุบันกรมบังคับคดีอยากขายทอดตลาดออกไปโดยเร็ว เพื่อเจ้าหนี้จะได้ได้เงิน เพื่อกรมบังคับคดีจะได้เงินของเจ้าหนี้ไปฝากกินดอกเบี้ย และได้ค่าธรรมเนียมการขายเร็วๆ กรมบังคับคดีจึงออกระเบียบตะแบงขัดแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังที่กล่าว โดยกำหนดเอาตามใจชอบว่า การคัดค้านราคาขายทอดทรัพย์สามารถทำได้ครั้งเดียวไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ ค้านหรือลูกหนี้ค้าน นัดหน้าทั้งสองฝ่ายจะต้องหาผู้ฃื้อ มาฃื้อทรัพย์ ดังกล่าวในราคาที่ตนเองพอใจ

เป็นการออกระเบียบที่ขัดแย้งตีความเอาเองขัดต่อกฎหมายหลักของประเทศ

นอกจากนี้กรมบังคับคดียังเสนอขอแก้กฎหมายที่ทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบเสียหาย อีก นั่นคือ การแก้กฎหมายการร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สิ้นสุดได้เพียงศาลชั้นต้น ทั้งนี้เพื่อมิให้มีการใช้ขบวนการศาลนานถึงสามศาล
ขณะเดียวกัน ศาลยังหยิบเอากฎหมายมาใช้เป็นดุลยพินิจตัดทอนคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของลูกหนี้ด้วยการมีอำนาจสั่งให้ลูกหนี้วางเงินประกัน ในการร้องขอเพิกถอนอีกด้วย ทุกข์ของลูกหนี้จึงถูกกระหนำความเป็นธรรมต้องแลกด้วยเงิน
จึงมีเพียงผู้พิพากษาบางท่านเท่านั้นที่เห็นกฎหมายเป็นสำคัญมากกว่าตัวเงิน จึงรับคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดทรัพย์เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรม แทนที่จะมีอคติคิดว่าลูกหนี้ต้องการถ่วงเวลาในการขายทรัพย์

และหากลูกหนี้ไม่วางเงินประกันความเสียหายให้แก่โจทก์ฃึ่งก็ไม่รู้อีกละว่าโจทก์จะเสียหายมากกว่าลูกหนี้ได้อย่างไร กฎหมายก็ยังถูกกำหนดให้ลูกหนี้เสียเปรียบอีกคือ หากลูกหนี้ไม่มีเงินวางประกันความเสียหายให้โจทก์ คดีเป็นอันสิ้นสุด หมายความว่าคดีนี้ศาลไม่รับพิจารณาให้ ถ้าไม่มีเงินมาวาง

การพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะให้การขายทอดทรัพย์ลูกหนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วนี้ กรมบังคับคดีได้รับค่าธรรมเนียมการขายจำนวนมากถึง2.5% โดยไม่ต้องทำงานอะไรมาก เพราะก็แก้กฎหมายให้ตัวเองสะดวกด้วยการออกระเบียบให้ยึดณที่ทำการ ไม่ต้องออกไปดูทรัพย์ที่ยึด ไม่ต้องไปรังวัดสอบเขต
เพราะหากมีปัญหายึดที่ผิดแปลง ก็ปัดไปให้เจ้าหนี้ที่นำมาแถลงกับผู้ฃื้อทรัพย์ ที่จะต้องไปตรวจสอบความถูกต้องเอาเอง
กรมบังคับคดีลอยตัวรับเงินค่าธรรมเนียม2.5%ของราคาขายสบายๆเป็นเสือนอนกิน
แถมหากมีปัญหาการร้องเพิกถอนการขายทอดทรัพย์ เงินที่ขายได้ยังอยู่ที่กรมบังคับคดีนำไปฝากได้ดอกเบี้ยส่งคลังจากนั้นดอกเบี้ยมหาศาลต่อปีส่งกลับมาให้กรมบังคับคดีใช้เป็นสวัสดิการ กิน เที่ยว ประชุม

อย่างนี้แล้วบรรดาคนนั่งออกกฎหมายในสภา สนับสนุนเห็นดีเห็นงามตามร่างกฎหมายของกรมบังคับคดีออกมาได้อย่างไร เมื่อกฎหมายบ้านเรากำหนดไว้ต้องมีการพิจารณาสามศาล ก็ยังมาแก้ให้เหลือศาลเดียวบ้าง สองศาลบ้าง
โดยไม่นึกถึงความเป็นธรรมที่ประชาชนควรจะได้รับตามสิทธิการเป็นพลเมืองภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีรธน.กำหนดเป็นกฎหมายหลักใหญ่ของประเทศ

เดี๋ยวกรมบังคับคดี เดี๋ยวศาลยุติธรรม ล้วนแล้วแต่แก้ไขกฎหมายให้ตนเองสบายขึ้น มีอำนาจมากขึ้น ดังตัวอย่างที่กล่าวแล้ว เมื่อเร็วๆนี้ศาลยังออกกฎหมาย “ต้องขออนุญาตยื่นฎีกาในคดีแพ่ง”และต่อไป”ต้องยื่นขออนุญาตฎีกาในคดีอาญา” อีก เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิรธน.ทั้งสิ้น เพราะต้องยื่นขออนุญาตก่อน หากศาลไม่อนุญาตเพราะอาจพิจารณาว่าเป็นคดีไม่มีสาระ สิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับในการพิจารณาคดีเป็นอันตกไปทันที

เป็นเช่นนี้ทำให้ศาลทำงานน้อยลง คดีจากหนึ่งล้านห้าแสนคดีสามารถทำเสร็จไปแล้วหนึ่งล้านสามแสนคดี หากกฎหมายนี้ใช้บังคับ ศาลอาจไม่ต้องรับคดีเป็นล้านคดีอีกแล้วก็เป็นไปได้

ดังนั้นประชาชนควรที่จะใส่ใจต่อร่างกฎหมายที่เข้าสู่ สนช.ว่ามีกฎหมายอะไรบ้างที่ทำให้ประชาชนเสียสิทธิ ไม่ได้ประโยชน์ต่อกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้
ลำพังจะอาศัยสมาชิกสนช.ช่วยเป็นหูเป็นตา เพื่อประชาชน สมัยนี้คงจะยาก เพราะเป็นยุคที่สมาชิกสนช.มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็อาจทำให้ร่างกฎหมายนั้นๆออกมาตามสั่งของผู้ยิ่งใหญ่ได้ แม้ประชาชนจะไม่เห็นด้วยเลยก็ตาม หรือ เรื่องที่อยากจะเห็นด้วย อยากให้เร่งออกเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ก็ดูเหมือนจะไม่ได้คลอดออกมาไวๆอย่างร่างพรบ.ฉบับอื่น

จึงควรที่จะสอดส่องร่างกฎหมายที่มีผลต่อประชาชนและควรช่วยกันทำประชามติสนับสนุนหรืองดการสนับสนุนร่างกฎหมายนั้นให้ผู้ยิ่งใหญ่ในบ้านเมืองได้ตระหนัก”สิทธิอันชอบธรรมของประชาชน”