จุดดำในอารมณ์ สะสมมากเข้ากลายเป็น……
เรื่องของการที่เราจะมีชีวิตของเราไปอย่างสะดวกสบายนั้น เราก็จำเป็นที่จะต้องทำใจของเราให้นิ่ง
ถ้าใจของเรานิ่งเมื่อไรเราก็จะได้ไปพบตัวใจที่เขาเรียกว่าตัวจิตใจเดิมของเรา
คนเรานี้มันจะมีจิตเดิมที่เขาเรียกว่าจิตที่มันอยู่ในจิตของเราที่เป็นตัวทำให้เรามีความคิดนึกอยู่ในเวลานี้ เขาเรียกว่าต้นกำเนิดของจิต
ต้นกำเนิดของจิตนี่มันจะอยู่ด้วยกันมีด้วยกันทุกคน แต่เราเองนี่ไม่สามารถที่จะเข้าไปถึงวาระจิตอันนั้นได้
เนื่องจากว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นมานี่มันหนาแน่นเกินไป
วันหนึ่ง ๆ เราก็มีแต่คิดแต่การงาน
วันหนึ่ง ๆ เราก็มีแต่เรื่องยุ่ง
วันหนึ่ง ๆ เราก็มีแต่ความสำเร็จบ้าง
วันหนึ่ง ๆ เราก็มีแต่ความไม่สำเร็จบ้าง
มันก็เป็นอารมณ์ดีอารมณ์ชั่วเกิดขึ้นมากับตัวของเราอยู่ตลอด แล้วมันก็ค่อย ๆ ปิดบังจิตดั้งเดิมที่เรามีอยู่นั้นน่ะ หนาขึ้นทุกวัน ๆ จนกระทั่งเราไม่สามารถที่จะกลับคืนไปดูจิตดวงนั้นได้อีกต่อไป
เพราะว่าเรามีแต่เอาอารมณ์ทับถม คืออารมณ์ต่าง ๆ ของเรานี่ที่เราพากันนึกพากันคิดกันอยู่ในเวลานี้ มันจะไม่สลายตัว มันจะสะสมอยู่ในตัวของเรา
มันไม่ออกไปจากใจของเราเพราะว่ามันจะหมักหมม
เมื่อหมักหมมมากเข้าอย่างนี้มันก็กลายเป็นจุดดำ
เมื่อกลายไปเป็นจุดดำแล้วมันก็ยิ่งก่ออันตรายให้กับตัวบุคคลโดยทั่วไป
เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงแนะนำหนทางแก้ไขเสียบ้าง อย่าให้มันมาปิดบังจิตใจของเรามากจนเกินไป หาทางแก้ซะบ้าง
การที่เราจะแก้อารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้นั้นน่ะมันก็มีอยู่ทางเดียวคือการทำสมาธิ
เมื่อการทำสมาธิเกิดขึ้นก็เป็นการลดตัดอารมณ์เป็นครั้งเป็นคราว ถึงแม้ว่าจะตัดไม่ได้หมดก็ค่อยตัดไป
บางคนก็คิดว่าทำสมาธิไม่เห็นมันดีซักทีแล้วก็เลยเลิกนั่งนั่นเขาเรียกว่าเป็นความคิดผิด
สมาธินั้นเปรียบเหมือนอาหาร ความเอร็ดอร่อยนั้นเปรียบเหมือนกับฌาน
คนเราเมื่อเวลาทำสมาธิแล้วมันจะมีความสุข ความสุขเกิดขึ้นเมื่อใดเมื่อนั้นฌานก็เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นฌานนั้นมันจึงเกิดเองไม่ได้ ฌานต้องมีสมาธิ เมื่อสมาธิเพียงพอแล้วมันก็กลายเป็นฌาน
เมื่อเวลาที่จิตของเราเป็นสมาธิแล้วผลิตพลังจิตขึ้นมา สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นอาหารของจิต แล้วเข้าไปหล่อเลี้ยงจิตของเรา จนกระทั่งจิตของเราเกิดการละอารมณ์ได้เป็นช่วงเป็นช่วง
เมื่อละอารมณ์ได้เป็นช่วงเป็นช่วงมันก็มีความสุขเป็นช่วงเป็นช่วงไป จนกว่าว่าเราจะละอารมณ์ไปถึงขั้นสูงสุดก็ไปเจอเอาตัวที่เราเรียกว่าตัวจิตเดิม
ถ้าหากว่าไปถึงจิตเดิมตัวนั้นเมื่อไหร่นี่ เราจะรู้สึกว่ามัน เรียกว่าวางภาระได้อย่างมหาศาล อย่างน่าอัศจรรย์
จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๓ หน้าที่ ๒๒๖
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา
๖๐.๑๑.๒๔
ใส่ความเห็น