ถ้าเราละอารมณ์ได้จิตมันก็เป็นสมาธิ พอเราเป็นสมาธิแล้วเราก็เกิดความสุข

ความสุขของสมาธิแตกต่างความสุขของธรรมชาติ
ความสุขของสมาธิคือความสุขที่ปราศจากอารมณ์
ความสุขของธรรมชาตินั้นเป็นความสุขที่เจือปนไปด้วยอารมณ์ มันจึงไม่เหมือนกัน แตกต่างกันสิ้นเชิง

เพราะความสุขที่เกิดจากอารมณ์นั้นเป็นความสุขที่เตรียมจะมีความทุกข์ในการต่อไป
คือหมายความว่าเมื่ออารมณ์ดีเข้ามาอารมณ์ร้ายมันก็ตามเข้ามา

การที่เราทำสมาธิยิ่งหมดอารมณ์มากเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น
หมดอารมณ์แล้วยังหมดอารมณ์ภายนอกแล้วยังหมดอารมณ์ภายใน ยังหมดอารมณ์สารพัดแล้วจิตก็กลายเป็นหนึ่ง
จิตเป็นหนึ่งจิตก็เป็นสมาธิ
สมาธินั้นมันก็ทำให้ความสุขนี่อันนี้เป็นความสุขเท่านี้ ต่อไปความสุขก็ลึกลง ๆ มากขึ้น ๆ ลึกลง ๆ
อย่างนี้นี่เรียกว่าความสุขที่เกิดจากสมาธิ แล้วความสุขที่เกิดขึ้นจากสมาธินี่ก็ยังทำให้ผลิตพลังจิต
พลังจิตก็จะเพิ่มขึ้น ๆ เรียกว่าได้กำไรตลอด เรียกว่าได้กำไรตลอดเลย ชีวิตของเรามีค่าสูงที่สุดเลย อย่างนี้เป็นต้น

ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะไปคิดเอาแต่อารมณ์สุนทรีที่เรียกว่าสุขด้วยอารมณ์นั้น มันเป็นความสุขที่พร้อมแล้วที่จะเกิดความทุกข์ตามมา
มันเป็นอย่างนั้นเพราะมันเป็นธรรมชาติ มีความสุขแล้วมีความทุกข์อย่างนี้

แต่ว่าการที่เรามีความสุขในเรื่องสมาธิแล้วนั้นน่ะมันไม่มีความทุกข์ตามมา มันมีความสุขแล้วมันก็จะสุขของมันตลอดไป แล้วมันก็ตลอดไปอีก แล้วก็ต่อไปอีก ยิ่งทำเข้ามันก็ต่อเข้าไปอีก
ความสุขอันนี้มันจะลึกซึ้งลงไป มันก็จะกว้างขวาง มันนุ่มนวล มันเรียกว่าพูดไม่ถูก ถ้าใครทำสมาธิแล้วก็รู้ได้

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๓ หน้าที่ ๙๙
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

๖๐.๑๐.๒๔