ผ่านมาหลายบทหลายตอนกับการทำตัวให้มีมงคลในชีวิต  เพื่อการดำรงชีพให้เจริญก้าวหน้าทั้งกายและใจ

วันนี้เช่นเคยการทำอะไรก็ต้องมี”ศิลปะ” เช่นเดียวกับการคิดจะปลูกมะม่วง

เราปลูกมะม่วง จะอิ่มจะรวยอยู่ที่ผลของมัน
ช่วงแรกที่ปลูก มีลำต้นกิ่งใบ
เป็นเพียงระยะเตรียมตัวเพื่อที่จะได้ผล
เช่นเดียวกัน ความรู้ทุกอย่างหรือความเป็นพหูสูตที่เรามีอยู่
เป็นเพียงการเตรียมตัวเท่านั้น
จะช่วยเราได้จริงต่อเมื่อเรามีศิลปะ
สามารถนำออกมาใช้ได้อย่างดีเท่านั้น

ศิลปะ คือ อะไร ?
ศิลปะ แปลว่า การแสดงออกมาให้ปรากฏขึ้นได้อย่างงดงามน่าพึงชม  หมายถึง “ฉลาดทำ”   คือทำเป็นนั่นเอง
พหูสูตนั้นเป็นผู้ฉลาดรู้ เรียนรู้ในหลักวิชา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าอะไรทำอย่างไร ส่วนศิลปะ เป็นความสามารถในทางปฏิบัติ คือสามารถนำความรู้นั้นมาใช้ให้บังเกิดผลได้
คนที่มีความรู้นั้น ไม่ใช่ว่าจะมีศิลปะทุกคน เช่น รู้วิธีหุงข้าวว่าจะต้องเอาข้าวสารใส่หม้อ ซาวข้าว แล้วใส่น้ำยกขึ้นตั้งไฟ น้ำเดือดสักพักก็รินน้ำข้าวออก ดงให้ระอุอีกครู่หนึ่ง ก็คดข้าวออกมากินได้ นี่คือหลักวิชา แต่คนที่รู้เพียงเท่านี้ ไม่แน่นักว่าจะหุงข้าวกินได้ทุกคน อาจจะได้ข้าวดิบบ้าง แฉะบ้าง ไหม้บ้าง เพราะไม่มีศิลปะในการหุงข้าว  เรียกว่า  ฉลาดรู้แต่ยังไม่ฉลาดทำ
เรื่องอื่นๆ ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะขับรถยนต์ เตะตะกร้อ ว่ายน้ำ ทำกับข้าว ลองดูก็ได้ว่า  ถ้ารู้แต่ทฤษฎีอย่างเดียวจะทำได้หรือไม่

image

ประเภทของศิลปะ
ทางกาย คือฉลาดทำการช่างต่างๆ  เช่น ช่างทอ ช่างเครื่อง ช่างวาด ช่างออกแบบ ช่างปั้น ช่างภาพ ช่างพิมพ์ รวมทั้งฉลาดในการทำอาชีพอื่นๆ  เช่น การทำสวน ทำไร่ ปลูกพืชผัก การเขียนหนังสือ การตรวจคนไข้ ตลอดจนถึงการยืนเดินนั่งนอนอย่างมีมารยาท การแต่งตัวให้เหมาะสม การต้อนรับแขก การแสดงความเคารพ  การสำรวมกาย  ก็จัดเป็นศิลปะทั้งสิ้น
ทางวาจา คือฉลาดในการพูด มีวาทศิลป์ รู้จักเลือกพูดแต่สิ่งที่ดี เป็นประโยชน์สามารถยกใจของผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้นได้
ทางใจ คือฉลาดในการคิด มีสติสัมปชัญญะ สามารถควบคุมความคิดให้คิดไปในทางที่ดี  คิดในทางสร้างสรรค์  คิดในทางที่ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น โดยย่อ  ศิลปะ จึงหมายถึง คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น

องค์ประกอบของศิลปะ
สิ่งที่ทำแล้วจัดว่าเป็นศิลปะ ต้องประกอบด้วยองค์ ๖ ดังนี้
๑.         ทำด้วยความประณีต
๒.        ทำให้สิ่งของต่างๆ มีคุณค่าสูงขึ้น
๓.        ทำแล้วส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
๔.        ทำแล้วไม่ทำให้กามกำเริบ
๕.        ทำแล้วไม่ทำให้ความคิดพยาบาทกำเริบ
๖.         ทำแล้วไม่ทำให้ความคิดเบียดเบียนกำเริบ

คุณสมบัติของผู้สามารถมีศิลปะ
๑.         ต้องมีศรัทธา มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่จะทำ ว่าเป็นสิ่งดีจริง มีประโยชน์จริง  มีใจรักที่จะทำและตั้งใจมั่นว่าจะต้องทำให้เสร็จ
๒.        ต้องไม่เป็นคนขี้โรค  รู้จักระวังรักษาสุขภาพของตัวเอง
๓.        ต้องไม่เป็นคนขี้โม้ขี้คุย คนโอ้อวดไม่มีใครอยากสอน ไม่มีใคร             อยากแนะนำ  คนพวกนี้มัวแต่อวด มัวแต่คุยจนไม่มีเวลาฝึกฝีมือ
๔.        ต้องไม่เป็นคนขี้เกียจ  มีความมานะพากเพียร อดทน
๕.        ต้องเป็นคนมีปัญญา  รู้จักพินิจพิจารณาช่างสังเกต

วิธีฝึกตนให้มีศิลปะ
๑.         ฝึกตนเองให้เป็นคนช่างสังเกต รู้จักหาจุดเด่นของสิ่งรอบตัว
๒.        ตั้งใจทำงานทุกอย่างที่มาถึงตนให้ดีที่สุด อย่าดูถูกหรือเกี่ยงงาน
๓.        ตั้งใจทำงานทุกอย่างด้วยความประณีต ละเอียดลออ
๔.        ตั้งใจปรับปรุงงานให้ดีขึ้นเสมอ  ไม่ทำอะไรอย่างชุ่ยๆ ขอไปที
๕.        หมั่นใกล้ชิดกับผู้มีศิลปะอย่างแท้จริงในสายงานนั้นๆ
๖ .        ฝึกสมาธิอยู่เสมอเพื่อให้ใจสงบผ่องใสเกิดปัญญาที่จะฝึกและปรับปรุง    ตนเองให้มีคุณสมบัติของผู้มีศิลปะได้

ข้อเตือนใจ
อย่าเอาแต่จับผิดผู้อื่น ไม่เช่นนั้นตัวเราจะกลายเป็น “ศิลปินนักติ”คือดีแต่ติผลงานของผู้อื่นเรื่อยไป ติคนอื่นไว้มากเลยไม่กล้าแสดงฝีมือ  เพราะกลัวคนอื่นจะติเอาบ้าง  สุดท้ายเลยกลายเป็นคนไม่มีผลงาน  ทำอะไรไม่เป็น

อานิสงส์การมีศิลปะ
๑.         ทำให้มีความสามารถเด่นกว่าผู้อื่น
๒.        ทำให้สามารถเลี้ยงตัวได้
๓.        ทำให้เป็นคนฉลาดช่างสังเกต  มีไหวพริบปฏิภาณดี
๔.        ทำให้เป็นคนมั่งคั่งสมบูรณ์
๕.        ทำให้ได้รับความสุขทั้งโลกนี้โลกหน้า
๖.         ทำให้โลกเจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจ
ฯลฯ

“ศิลปะแม้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้”

โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ