คุณ – โทษ
คำว่า ได้คุณ คำว่า ได้โทษ หรือต้องโทษ เป็นอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจว่า ทำอย่างไรจึงได้คุณ ทำอย่างไรจึงได้โทษ
มรรค คือ หนทางนั้นจะดำเนินอย่างไร
คำว่าได้คุณ มีหลายนัย เช่น ได้คุณประโยชน์ ได้คุณงามความดี ได้ลาภสักการะ ก็ถือว่าได้คุณ ได้ลาภยศสรร ก็ถือว่าได้คุณ หรือได้ดี
คุณนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับต้นหรือเล็กน้อย ระดับกลาง และระดับสูง
คำว่าได้โทษ ก็มีหลายนัย เช่น ต้องโทษ ถูกปรับ ถูกจองจำหรือติดคุก อย่างสูงถูกประหารชีวิต อีกลักษณะหนึ่งถูกติเตียน ถูกนินทา ถูกต่อว่า ถูกพิพากษาว่ามีความผิด หรือถูกให้ชดใช้โทษ หรือความเสียหายที่ก่อให้เกิดขึ้น โทษนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ต้องโทษเล็กน้อย ต้องโทษปานกลาง ต้องโทษหนัก
การได้คุณงามความดีนั้นมีเหตุ ทั้งเหตุที่สะสมมาแต่อดีต และเหตุที่กระทำในปัจจุบัน อีกทั้งอาจได้จากพ่อแม่หรือญาติ เช่นมรดก หรืออาจได้ดีหรือได้คุณงามความดีหรือได้สิ่งที่ดีจากกัลยาณมิตร เหตุแห่งคุณงามความดีนั้นมาจากการกระทำที่ดี ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา และทางใจ เรียกว่า ความสุจริต
เมื่อก่อเหตุแห่งความสุจริตแล้ว ดังคำกล่าวว่า “ซื่อ กินไม่หมด คดกินไม่นาน” ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเหตุสำคัญ เป็นความดีพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ไม่พูดโกหก พูดแต่ความสัตย์ความจริง บุคคลผู้นั้นย่อมได้รับความเชื่อถือ ได้รับความไว้วางใจ ตรงกันข้ามคนที่พูดโกหก บุคคลผู้นั้นย่อมไม่ได้รับความเชื่อถือ ไม่ได้รับความไว้วางใจ
ตรงข้ามความทุจริต ซึ่งเกิดได้ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา และทางใจ หลายบุคคลหลงผิด ด้วยความไม่รู้ว่า ก่อเหตุแห่งความทุจริตแล้ว ผิดแล้ว เช่น โกงบุคคลอื่นไปแล้ว แย่งเขาไปแล้วโดยความไม่ชอบธรรม หรือโกหกหลอกลวงไปแล้ว มองไม่เห็นโทษ เห็นเป็นคุณที่ได้ประโยชน์มาแล้ว เรียกว่าเห็นผิดเป็นชอบ หรือมาคิดผิดว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” แท้จริงแล้ว “ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว”
ที่ทำดีแล้วยังไม่เห็นผล อย่าคิดว่าทำดีแล้วไม่ได้ผลดี เปรียบเหมือน เราทำสวนผลไม้ ปลูกลำไย ย่อมได้ผลลำไย ปลูกทุเรียนย่อมได้ผลทุเรียน หรือแม้ปลูกไม้ไผ่ ย่อมได้หน่อไม้ขึ้นในกอไผ่ การที่จะให้ผลดีนั้น เหตุต้องมากพอ เหตุต้องเหมาะสม ดีไม่พอดี ผลดีก็ไม่เกิดขึ้น ดีผิดที่ผิดทาง ผลดีก็ไม่เกิดขึ้น เราต้องใช้ความฉลาดในการกระทำความดี ความรู้จริงเห็นจริงนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญที่เกื้อกูลเราให้การกระทำความดีนั้น ได้ผลดีเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว
เหตุแห่งคุณงามความดีน้อยใหญ่นั้น ตัวสำคัญคือ ใจ ใจของเรานี่แหละเป็นต้นเหตุที่สำคัญ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เนื่องจากใจได้คิดขึ้นก่อน เมื่อคิดแล้วก็ออกมาเป็นการกระทำทางกาย หรือทางวาจา ใจจึงเป็นใหญ่ ใจจึงเป็นประธาน ผลย่อมตามติดบุคคลนั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงจำเป็นต้องมาดูแลจิตใจของเราแต่ละคน พื้นฐานของจิตใจคนจึงเป็นพื้นฐานของสังคม เมื่อเราปรารถนาคุณประโยชน์ ไม่ปรารถนาโทษ เราจึงต้องดูแลใจของเราเป็นอย่างดี
ด้วยวิธีง่าย ๆ คือ การทำสมาธิ
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะการทำสมาธิเป็นการทำให้ใจของเรานั้นสงบ ตั้งมั่น เมื่อใจสงบลงแล้ว กำลังใจ หรือพลังจิตจะเกิดขึ้นแก่ใจเป็นอัตโนมัติ เมื่อพลังจิตเกิดขึ้นแล้ว เมื่อมีกำลังใจเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ใจของเราก็จะแข็งแกร่งขึ้น สามารถควบคุมตนเองได้ สามารถเตือนตนได้ ทำให้สติปัญญาดีขึ้น เรียกว่าเฉลียวฉลาดขึ้นได้ คนโง่กลับกลายเป็นคนฉลาดได้ คนชั่วกลับกลายเป็นคนดี เหตุเพราะ มรรค คือ หนทางที่สำคัญ คือการที่ได้ทำสมาธิ ซึ่งการทำสมาธินั้นง่ายมาก และไม่ยุ่งยาก ไม่รบกวนกิจการงานหรือ การเรียน แถมยังจะช่วยกิจการงาน หรือการศึกษาเล่าเรียนนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การได้คุณงามความดีนั้น เนื่องมาแต่เหตุ การต้องโทษ เกิดทุกข์โทษเวรภัยนั้นก็เกิดมาแต่เหตุ ทำดีนั้นย่อมได้ดีเสมอ อย่าหวั่นไหวในการทำความดี พยายามทำให้มาก เจริญให้มาก
รังสรรค์ อินทร์จันทร์
21/12/58
ใส่ความเห็น