ปชช.เดือดหลังศาลรธน.ตัดสินรับฟ้องสั่งธนาธรหยุดการทำหน้าที่ส.ส ขณะที่ธนาธรสู้ๆดังกระหึ่มพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ฃึ่งถูกกระแสจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี รุมโจมตีทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องการถือหุ้นในบริษัทวีลัคฃึ่งแม้จะแสดงหลักฐานอย่างไรในการแก้ต่าง ก็ยังไม่ส่งผล โดยกกต.ได้ตัดสินนำเรื่องเสนอให้ศาลรธน.อันประกอบด้วย นาย

1. นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

2. จรัญ ภักดีธนากุล 

3. ชัช ชลวร 

4. ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ 

5. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 

6. บุญส่ง กุลบุปผา 

7. ปัญญา อุดชาชน 

8. วรวิทย์ กังศศิเทียม 

9. อุดมศักดิ์ นิติมนตรี 

โดยใช้เวลาไม่กี่วัน ปรากฎศาลรธน.ทั้ง9นายนี้ ลงมติเอกฉันท์ในวันนี้ (23พค62) รับพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จากกรณี ถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด และมีมติ 8 ต่อ 1 ให้ ธนาธร หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ทำให้ปชช.ที่ได้ยินได้ฟังรู้สึกเดือดดาลใจเป็นอย่างยิ่งถึงกับพุ่งตรงสู่พรรคอนาคตใหม่ที่ถนนเพชรบุรีกันเป็นจำนวนมากเพื่อเชียร์ให้นาย ธนาธร สู้ ต่อไป

โดยนายธนาธรได้เปิดแถลงข่าวถึงเรื่องนี้ว่า

แม้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องคดี และมีคำสั่งให้ตนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตนและพรรคอนาคตใหม่ยังยืนยันที่จะรวบรวมเสียงจากพรรคต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเพื่อต่อต้าน “ฝ่ายเผด็จการ” ต่อไป

“ธนาธรยังพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ธนาธรยังมีศักดิ์และสิทธิที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ประกาศต่อหน้าผู้สนับสนุนจำนวนมากทั้งที่พรรคและผ่านการส่งผ่านเฟฃบุ๊คอย่างถ่ายทอดสดโดยตรงถึงผู้คน

“อยากให้เรายืนเงียบ ๆ แล้วเงี่ยหูฟัง พวกเราได้ยินเสียงของความคลั่งโกรธของผู้คนที่อยู่ข้างนอกไหม …คสช. ในวันนี้อยู่ในขาลง คสช. และระบอบเผด็จการที่มาพร้อมพวกเขา คืออาทิตย์ที่กำลังอัสดง”

นายธนาธร ยังได้กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รีบร้อนผิดปกติ และมีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่

“คณะกรรมการสืบสวนข้อร้องเรียนกรณีที่ผมถือหุ้นสื่อยังคงดำรงสืบสวนอยู่จนถึงวันนี้ เหตุใด กกต. ชุดใหญ่ ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ถึงพิจารณาและส่งข้อร้องเรียนให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 พ.ค. ทั้งที่ชุดเล็กยังแสวงหาข้อเท็จจริงยังไม่เสร็จสิ้น”

ธนาธร เน้นย้ำว่า   “เวลานี้ไม่ใช่เวลาของความสิ้นหวัง แต่เป็นเวลาที่จะเปิดโปงความชั่วร้ายของระบอบเผด็จการ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความอยุติธรรม”

“ถึงแม้ว่าวันนี้ผมถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ผมยังเป็นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างรอการวินิจฉัยของศ่าล ผมจะยังคงทำงานกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในเมื่อพวกเขาไม่ให้ผมเข้าสภา ผมก็จะอยู่กับประชาชน ผมจะทำงานในฐานะบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน 6 ล้าน 3 แสน เสียง ทั่วประเทศ”

เมื่อมาพิจารณาดูตัวศาลรธน.ทั้ง9 ข้อมูลจากไอลอว์ ฃึ่งเป็น โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน เปิดเผยว่า

เมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจ แม้รัฐธรรมนูญเดิมจะถูกยกเลิกไป แต่ คสช. ก็ออกประกาศ ฉบับที่ 48/2557 กำหนดให้การสรรหาองค์กรอิสระดำเนินการตามระบบเดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 ไปพลางก่อน

ซึ่งตามระบบเดิม คือ ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน เป็นกรรมการ แต่เนื่องจากในยุคของ คสช. ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน จึงมีเพียงพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หนึ่งในมือกฎหมายของ คสช. เข้าร่วมการสรรหา

เมื่อได้รายชื่อจากการสรรหาแล้ว ตามระบบเดิมต้องให้วุฒิสภาลงมติให้ความเห็นชอบ แต่เนื่องจากในยุคของ คสช. ไม่มีวุฒิสภา จึงส่งเรื่องให้ สนช. ซึ่งเป็นสภาแต่งตั้งที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นทหารและข้าราชการเกษียณอายุ เป็นผู้ลงมติเห็นชอบแทน

วันที่ 9 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบให้นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และเคยเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว นครินทร์ยังเคยทำงานเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 และ ร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1 ในยุคของ คสช. ฉบับปี 2558 นอกจากนี้ในปี 2552-2558 ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของสุพจน์ ไข่มุกด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่ 2 ของ คสช. ด้วย

วันที่ 29 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม สนช. ลงมติให้ความเห็นชอบให้ปัญญา อุดชาชน ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้ปัญญาเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และเคยเป็นคณะอนุกรรมาธิการประสานข้อมูลของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2558

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้อย่างน้อยสองคน จึงเป็นคนที่เคยทำงานให้กับ คสช. และเข้ามานั่งในตำแหน่งได้โดยผ่านระบบการคัดเลือกของ คสช.

……………………………………

ตุลาการห้าคนหมดวาระแล้ว แต่ คสช. ต่ออายุมาให้อยู่ยาว

เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนมีเหตุต้องออกจากตำแหน่ง คสช. ก็ได้วางระบบที่ตัวเองพอใจเพื่อรองรับการคัดเลือกคนใหม่เข้าทำหน้าที่แทนไว้แล้ว แต่ในปี 2559 คสช. เห็นว่ากำลังอยู่ระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 40/2559 สั่งระงับการสรรหาองค์กรอิสระทุกแห่งเพื่อรอรัฐธรรมนูญประกาศใช้

แต่ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2560 ตุลาการ 5 คน ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล จะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากหมดวาระ เพราะอยู่ในตำแหน่งมาจนครบวาระ 9 ปีแล้ว แต่วันที่ 5 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. จึงใช้อำนาจตาม “มาตรา 44” ออกคำสั่ง ฉบับที่ 23/2560 กำหนดให้สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปได้เลย โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก

แต่คำสั่งดังกล่าวยังไม่ทันได้ทำงาน วันที่ 20 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. ก็เปลี่ยนใจหันหลังกลับ 180 องศา ใช้มาตรา 44 อีกครั้งออกคำสั่งฉบับที่ 24/2560 ให้งดเว้นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งก่อนหน้านี้เอาไว้ก่อน และยืดอายุให้ตุลาการทั้ง 5 คนทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีกฎหมายลูกใช้บังคับ

และเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ พร้อมด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรนี้ก็ถูกเลือกให้ยังอยู่ต่อไป ไม่ถูก “เซ็ตซีโร่” เช่นเดียวกับองค์กรอิสระบางแห่ง ส่วนตุลาการที่หมดวาระแล้วแต่ คสช. ใช้ “มาตรา 44” ช่วยยืดอายุไว้ก็ให้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมีการเรียกประชุมสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง

เท่ากับว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนนี้ คสช. ก็ได้เลือกแล้วว่า “ไว้ใจได้” จึงให้คงอยู่ในตำแหน่งยาวเกิน 11 ปี และให้มีหน้าที่คอยตีความบังคับใช้กฎหมายระหว่างการเลือกตั้ง รวมทั้งตัดสินคดีเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองด้วย

สำหรับตุลาการอีกสองคนที่ไม่ได้มีที่มาจากการเข้าแทรกแซงของ คสช. ได้แก่ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ วรวิทย์ กังศศิเทียม อดีตข้าราชการอัยการ และตุลาการศาลปกครอง

……………………………………

ดูประวัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ได้ที่ http://www.constitutionalcourt.or.th/th/occ_web/sub.php?nid=970

ดูเรื่อง สี่ปี คสช. เข้ายึดครององค์กรอิสระ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4808

ดูสรุป พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธิพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4657

ดู คำสั่งหัวหน้า คสช. 23/2560 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order23-2560.pdf

ดูคำสั่งหัวหน้า คสช. 24/2560 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order24-2560.pdf

ขอบคุณข้อมูลจากไอลอว์