เพื่อน การคบหา
เสฏฺฐมุปนมํ อุเทติ ขิปฺปํ เมื่อคบคนที่ดีกว่า ตัวเองก็ดีขึ้นอย่างฉับพลัน
พระพุทธเจ้าทรงแสดงประเภทของบุคคลที่ควรคบและไม่ควรคบแก่พระภิกษุทั้งหลาย โดยยกศีล สมาธิ ปัญญาเป็นที่ตั้ง คือ
1. บุคคลที่ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ ได้แก่ ผู้ไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา
2. บุคคลที่พึงเข้าไปหา ควรคบ ควรเข้าใกล้ ได้แก่ ผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา เสมอกับตน
3. บุคคลที่ควรสักการะเคารพก่อนแล้วจึงคบ เข้าใกล้ ได้แก่ ผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา สูงกว่าตน
แล้วทรงสรุปว่า หากคบคนที่ด้อยกว่า ก็ย่อมเสื่อมไปด้วย คบคนที่เสมอกันก็ไม่เสื่อม ยิ่งคบคนที่ประเสริฐกว่าก็ยิ่งเจริญเร็ว
อีกข้อหนึ่ง ทรงแสดงต่างจากข้อนี้ คือ
1. บุคคลที่ควรรังเกียจ ไม่ควรคบ คือ ผู้กระทำบาป
2. บุคคลที่ควรเฉย ๆ ไม่ควรคบ คือ ผู้ที่มากไปด้วยความโกรธ ความเกลียดชัง
3. บุคคลที่ควรคบ คือ ผู้มีศีล มีธรรมงาม
(จากหนังสือพุทธภาษิต ฉบับเรื่องเล่าขยายความ สำนักพิมพ์รติธรรม)

การคบบุคคลเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ครูบาอาจารย์ท่านมักกล่าวว่า “เพื่อนดี มิตรดี สหายดี ทำอะไรก็สำเร็จ” เราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก เรามีเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ทุกคนปรารถนาความสุขและความสำเร็จ ไม่ปรารถนาความทุกข์และความล้มเหลว

การคบคนนั้นต้องใช้สติและปัญญาให้ดี ดังคำที่นักปราชญ์โบราณได้กล่าวไว้ว่า “คบคนพาล คนพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” คำนี้ยังใช้ได้อยู่เสมอ ไม่ล้าสมัย
ความสำคัญ คือ เรานั้นโชคดีมากที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ดำรงชีวิตมาได้ถึงปัจจุบัน แต่ละคนนั้นมีสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ใจ และแต่ละคนนั้นมีความสามารถ มีความเป็นเลิศอยู่ในตน เป็นสมบัติของแต่ละบุคคล หากเราเห็นคุณค่านี้ พัฒนาตนเองโดยอาศัยหลักธรรมดังกล่าว เป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่ทำบาป ทำบุญ ทำสมาธิให้จิตผ่องใส

บุญย่อมเกิดแก่เราทุกวัน การหมั่นทำบุญ ทำความดี เรียกว่าสะสมบุญ ย่อมนำความสุขและความสำเร็จมาให้ และตนก็จะเป็นที่พึ่งแห่งตน ประโยชน์ตนก็จะเกิดขึ้น ประโยชน์ต่อสังคมก็จะเกิดขึ้น โลกก็จะน่าอยู่ขึ้น เหตุเพราะได้เพื่อนที่ดี มิตรดี สหายดี ทำอะไรก็พบหนทางแห่งความสำเร็จได้ไม่ยาก
รังสรรค์ อินทร์จันทร์
ที่ปรึกษา งานพัฒนาบุคคลสู่ความเป็นเลิศ
31/05/59