ศาลยุติธรรมมีการปรับปรุงการทำงานเพื่อให้รวดเร็ว บางคดีแค่เดือนเดียวก็ตัดสิน เขียนคำพิพากษาออกมาได้แล้ว เป็นที่กล่าวขวัญในวงการเป็นอย่างมากถึงความรวดเร็วดังที่กล่าว จนเป็นที่มาของการตั้งคำถามว่า คดีจะได้รับการพิจารณาอย่างสุขุมรอบคอบหรือไม่ การเรียงคำพิพากษาจะได้จะเป็นไปอย่างรวบรัดตัดตอนหรือไม่ คำพิพากษาแสดงความเห็นในข้อเท็จจริงและในข้อกฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้กับคู่ความได้หรือไม่

กระบวนการนี้ศาลยุติธรรมมีการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลอย่างไรหรือไม่นั้น ประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่องจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ พ.ศ 2552 กำหนดไว้ว่า

หมวด ๑
อุดมการณ์ของผู้พิพากษา

ข้อ ๑ หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มี
อรรถคดีซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และนิติประเพณีทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนและเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ

หมวด ๒
จริยธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางอรรถคดี

ข้อ ๒ ผู้พิพากษาพึงตรวจสำนวนความและตระเตรียมการดำเนินกระบวนพิจารณาไว้ให้พร้อม ออกนั่งพิจารณาตรงตามเวลาและไม่เลื่อนการพิจารณา
โดยไม่จำเป็น

ข้อ ๓ ในการนั่งพิจารณาคดี ผู้พิพากษาจักต้องวางตนเป็นกลางและปราศจากอคติทั้งพึงสำรวมตนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ แต่งกายเรียบร้อย ใช้วาจาสุภาพ ฟังความจากคู่ความและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างตั้งใจ ให้ความเสมอภาค และมีเมตตาธรรม

ข้อ ๔ ผู้พิพากษาจักต้องพิจารณาคดีโดยไตร่ตรอง สุขุม รอบคอบ และไม่ชักช้า
พึงตัดการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่จำเป็นออกเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

ข้อ ๕ ผู้พิพากษาจักต้องควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยทั้งจักต้องมิให้ผู้ใดประพฤติตนไม่สมควรในศาลบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องละเมิดอำนาจศาล พึงใช้ด้วยความระมัดระวังและไม่ลุแก่โทสะ

ข้อ ๖ ผู้พิพากษาจักต้องละเว้นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในคดีที่อาจกระทบกระเทือนต่อบุคคลใด ไม่วิจารณ์หรือให้ความเห็นแก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกเกี่ยวกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือ กำลังจะขึ้นสู่ศาล
แต่ผู้พิพากษาผู้มีอำนาจอาจแถลงให้ประชาชนเข้าใจถึงวิธีพิจารณาความของศาลเมื่อมีเหตุผลสมควร

ข้อ ๗ การถ่ายภาพ ภาพยนตร์ บันทึกภาพหรือเสียง หรือการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันในการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีของศาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่ผู้พิพากษาตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค และอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขึ้นไปเป็นผู้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นอย่างยิ่ง แต่พึงระมัดระวังมิให้เป็นที่
เสื่อมเสียหรือกระทบกระเทือนต่อการพิจารณาคดี คู่ความ พยานหรือบุคคลอื่นใด

ข้อ ๘ การเปรียบเทียบหรือไกล่เกลี่ยคดีจักต้องกระทำในศาล ผู้พิพากษาพึงชี้แจงให้คู่ความทุกฝ่ายตระหนักถึงผลดีผลเสียในการดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้ จักต้องไม่ให้คำมั่นหรือบีบบังคับให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย
ยอมรับข้อเสนอใด ๆ หรือให้จำเลยรับสารภาพโดยไม่สมัครใจ และจักต้องไม่ทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระแวงว่าผู้พิพากษาฝักใฝ่ช่วยเหลือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง

ข้อ ๙ ผู้พิพากษาพึงระลึกว่าการนำพยานหลักฐานเข้าสืบและการซักถามพยานควรเป็นหน้าที่ของคู่ความและทนายความของแต่ละฝ่ายที่จะกระทำ ผู้พิพากษาพึงเรียกพยานหลักฐานหรือซักถามพยานด้วยตนเองก็ต่อเมื่อจำเป็น
เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมหรือมีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ศาลเป็นผู้กระทำเอง

ข้อ ๑๐ การบันทึกคำเบิกความ ผู้พิพากษาจักต้องบันทึกเฉพาะข้อความในประเด็นข้อพิพาท หรือเกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาท และต้องได้สาระถูกต้องครบถ้วนตามคำเบิกความ  การบันทึกคำแถลงและรายงานกระบวนพิจารณา จักต้องให้ได้ความชัดแจ้งและตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

ข้อ ๑๑ ในการปรึกษาคดี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจักต้องตระเตรียมคดีนั้น
ล่วงหน้าอย่างถี่ถ้วน และจักต้องชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อองค์คณะอย่างถูกต้องครบถ้วนผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะจักต้องร่วมพิจารณาให้ข้อคิดเห็นและเหตุผลประกอบเสมือนหนึ่งตนเป็นเจ้าของสำนวนคดีเรื่องนั้นเอง ผู้พิพากษาที่ร่วมกันพิจารณาคดีพึงเคารพในความคิดเห็นและเหตุผลของกันและกันทั้งนี้เพื่อให้ได้คำวินิจฉัยชี้ขาดที่ถูกต้องและเที่ยงธรรม

ข้อ ๑๒ เมื่อจะพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีเรื่องใด ผู้พิพากษาจักต้องละวางอคติทั้งปวงเกี่ยวกับคู่ความหรือคดีความเรื่องนั้น ทั้งจักต้องวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า และไม่เห็นแก่หน้าผู้ใดคำพิพากษาและคำสั่ง จักต้องมีคำวินิจฉัยที่ตรงตามประเด็นแห่งคดี ให้เหตุผลแจ้งชัดและสามารถปฏิบัติตามนั้นได้ การเรียงคำพิพากษาและคำสั่งพึงใช้ภาษาเขียนที่ดี ใช้ถ้อยคำในกฎหมายใช้โวหารที่รัดกุมเข้าใจง่าย และถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานข้อความอื่นใดอันไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีโดยตรงหรือไม่ทำให้การวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวชัดแจ้งขึ้นไม่พึงปรากฏอยู่ในคำพิพากษาหรือคำสั่ง

ข้อ ๑๓ ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้พิพากษาจักต้องควบคุมให้การออกหมาย หรือคำบังคับ ตรงตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และจักต้องออกโดยพลัน

ข้อ ๑๔ ผู้พิพากษาพึงถอนตัวจากการพิจารณาและพิพากษาคดี เมื่อมีเหตุที่ตนอาจถูกคัดค้านได้ตามกฎหมาย หรือเมื่อมีเหตุประการอื่นที่เกี่ยวกับตัวผู้พิพากษา อันอาจทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเสียความยุติธรรม
และจักต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการจูงใจผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้นในภายหลังในประการที่อาจทำให้เสียความยุติธรรมได้
โปรดติดตามต่อไป