การพูด
​“ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา”
​ปากเป็นเอกเหมือนเสกมนต์ให้คนเชื่อ ฉลาดเหลือวาจาปรีชาฉาน
​จะกล่าวถ้อยร้อยคำไม่รำคาญ เป็นรากฐานเทิดตนพ้นลำเค็ญ
​เลขเป็นโทโบราณท่านสั่งสอน เร่งสังวรเวี่ยไว้ใช่ว่าเล่น
​การคำนวณควรชำนาญคูณหารเป็น ช่วยให้เด่นดีหนักหนารู้ท่าคน
​หนังสือเป็นตรีวิชาปัญญาเลิศ เรียนไปเถิดรู้ไว้ไม่ไร้ผล
​ยามยากแสนแค้นคับไม่อับจน ได้เลี้ยงตนด้วยวิชาหาทรัพย์ทวี
​ชั่วดีเป็นตราประทับไว้กับโลก ยามวิโยคชีพยับลับร่างหนี
​ที่ศูนย์แท้ก็แต่ตัวส่วนชั่วดี คงเป็นที่ลือทั่วชั่วฟ้าดิน
(ผู้แต่ง ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา)
​ลืมแล้วหรือยังบทนี้ เป็นบทเรียนที่ได้เรียนผ่านบทอาขยานในชั้นประถม
​คุณครูท่านสั่งสอนเอาไว้ว่า ปากเป็นเอก เรื่องการพูดนั้นเป็นสิ่งสำคัญ วาจาดียังประโยชน์ให้สำเร็จ วาจาไม่ดี พูดไม่ดี ก่อให้เกิดอกุศลขึ้นได้ เกิดความชั่วขึ้นมาได้ด้วยปาก ซึ่งจะเป็นตราประทับไว้แก่โลก
​การพูดนั้นจำเป็นต้องสำรวมและระวัง คำพูดนั้นมีทั้งการสร้างสรรค์ และคำพูดที่ทำลาย
​ปิยะวาจา วาจาที่ไพเราะ วาจาที่ดูดดื่ม วาจาที่ซาบซึ้งตรึงใจ วาจาสุภาพ วาจาอ่อนหวาน วาจาสมานสามัคคี นี้เป็นวาจาที่ดี
​สัมมาวาจา เจรจาชอบ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดตามความเป็นจริงอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม
​การรู้จักพูดให้เป็นผลดี ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ควรแก่การฝึกฝน เป็นศิลปะที่สำคัญ และเป็นมงคลแก่ตน หากตรงกันข้ามอัปมงคลเกิดขึ้นได้ ยิ่งหากเป็นผู้ปกครอง ผู้นำ ผู้บริหาร การพูดเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน ต้องสำรวมระวัง
​ต้นเหตุสำคัญในการพูด คือ ใจคน หรือใจตน เนื่องเพราะการกระทำ คำพูด และความคิดนั้นล้วนมาจากใจ ใจที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้

 

​​​​​​ รังสรรค์ อินทร์จันทร์
​​​​​​ที่ปรึกษา งานพัฒนาบุคคลสู่ความเป็นเลิศ
​​​​​​​ 21/03/59