ยันตำรวจไม่มีสิทธิสลายการชุมนุม ชี้การฉีดน้ำสีมีพิษไม่มีในกฎหมายให้ตำรวจกระทำได้

วันนี้เพจดร. ธีรัฐ บุนนาค อธิบดีศาลแขวงอาญาใต้ ได้เขียนบทความเรื่อง “ตำรวจไม่มีสิทธิสลายการชุมนุม..” เผยแพร่สร้างความเข้าใจให้กับตำรวจและผู้ชุมนุมให้ได้ทราบกันถึงข้อกฎหมายความว่า 

   ทุกคนคงติดตามเหตุการณ์บ้านเมือง.. ดูข่าวการเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา.. เห็นข่าวการสลายการชุมนุมของตำรวจ..

   บางคนสงสัย เรื่อง ชุมนุมสาธารณะ และการสลายการชุมนุม.. มีการใช้กำลังควบคุมฝูงชน และใช้น้ำฉีดใส่ผู้ชุมนุม.. 

   บางคนก็ตั้งคำถามว่า การชุมนุมชอบมั้ย.. หรือรัฐบาลสั่งสลายการชุมนุมได้มั้ย..

   เรื่องข้อเท็จจริง เป็นอย่างไรนั้น. ไม่ขอกล่าวถึงนะครับ.. 

   การชุมนุมชอบหรือไม่ เราต้องไปดูกฎหมาย..

   การสลายการชุมนุมจะชอบหรือไม่ ก็ต้องไปดูกฎหมาย..

   วันนี้จะมาเล่าให้ฟัง ถึงขั้นตอนดำเนินการและอำนาจของตำรวจในการสลายการชุมนุม..

    พรบ. ชุมนุมสาธารณะ พฺศ. 2558 นั้น เป็นกฎหมายลูกที่ออกตามรัฐธรรมนูญที่รองรับว่า..

   “ประชาชนที่เห็นต่างกับการบริหารงาน หรือนโยบายของรัฐบาล มีสิทธิรวมตัวกันแสดงความคิดเห็น ไม่เห็นด้วย.. เรียกร้อง.. หรือคัดค้านได้..”

  แต่สิทธิในการชุมนุมสาธารณะนี้.. จะถูกจำกัดหรือต้องห้ามได้.. หากไม่ทำตามขั้นตอนของกฎหมาย.. หรือฝ่าฝืนข้อห้ามที่กฎหมายกำหนด.. หรือมีกฎหมายห้ามมิให้ชุมนุม..

   การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะนั้น.. ผู้ชุมนุมจะรวมตัวกันที่เดียว ไม่เคลื่อนที่ หรือจะเดินขบวนไปเรียกร้องไปก็ได้..

   ที่สำคัญ.. ต้องชุมนุมโดยสงบ ไม่มีอาวุธ.. และไม่ทำผิดกฎหมาย หรือสิ่งที่พรบ. ชุมนุมสาธารณะห้ามไว้.. 

   เช่น ต้องแจ้งตำรวจและได้รับความเห็นชอบก่อนชุมนุม..

   สาเหตุที่ต้องแจ้งตำรวจก่อนนั้น.. ก็เพื่ออำนวยความสะดวก..  เพื่อให้การใช้สิทธิชุมนุม ไม่เกิดอุปสรรคขัดขวง.. เพื่อให้ตำรวจจัดการจราจรได้อย่างเหมาะสม..

   ไม่ใช่ เพื่อตำรวจจะได้วางแผนสะกัดกั้นตามจุดตรวจทางหลวง เพื่อไม่ให้คนเข้ามาชุมนุมนะครับ.. 

    เพราะนั่นเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบาทหน้าที่และผิดกฎหมาย..

   นอกจากต้องได้รับอนุญาตจากตำรวจแล้ว.. การชุมนุมจะต้องไม่ฝ่าฝืนข้อห้าม หรือทำผิดกฎหมายอื่น..

   เช่น ต้องไม่ด่าใคร.. ต้องไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย.. ไม่ทำลายทรัพย์สิน.. ไม่ทำร้ายผู้อื่น.. ไม่ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง หรือตีกัน..

   ต้องไม่เข้าไปในบริเวณพื้นที่ต้องห้าม.. และต้องชุมนุมภายในเวลาและสถานที่ๆแจ้งไว้.. เป็นต้น

   ถ้าฝ่าฝืน หรือทำผิดกฎหมายอื่น.. ตำรวจอาจจับผู้กระทำผิดซึ่งหน้าได้ทันที.. 

   แต่จะสั่งเลิกชุมนุมไม่ได้..

   แม้ตำรวจจะไม่ให้ชุมนุมตั้งแต่แรก.. แม้เป็นการชุมนุมผิดกฎหมาย.. แต่ตำรวจ ทหารหรือใครก็ตาม จะสั่งให้เลิกชุมนุมไม่ได้..

  กฎหมายใช้คำว่า “สั่งเลิกชุมนุม” นะครับ.. ไม่มีคำว่า “สลายการชุมนุม”..

    ถามว่า ถ้าตำรวจเห็นว่า เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายแล้ว ตำรวจมีอำนาจสั่งอะไรบ้าง.. 

   คำตอบคือ ก่อนมีการชุมนุม.. ผู้จัดการชุมนุม ต้องแจ้งให้ตำรวจทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง..

   ถ้าตำรวจรับทราบแล้ว ไม่เห็นด้วย ก็จะสั่งไม่ให้ชุมนุม..

   ถ้าตำรวจสั่งไม่ให้ชุมนุมแล้ว.. ผู้จัดการชุมนุมยังฝ่าฝืน.. ยังจัดนัดให้มีการชุมนุมจนได้.. 

   ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายแล้ว..

   แต่คนที่จะวินิจฉัยว่า.. การชุมนุมใด เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายหรือไม่..  ไม่ใช่ตำรวจ.. หรือคณะรัฐมนตรี…

   ถ้าถามว่า แล้วใครมีอำนาจสั่งให้เลิกการชุมนุม.. 

  คำตอบคือ..

  “ต้องเป็นคำสั่งของศาลเท่านั้นครับ..”

    เมื่อเห็นว่ามีการชุมนุมผิดกฎหมาย.. ในกรุงเทพ.. ตำรวจต้องไปยื่นคำร้องที่ศาลแพ่งขอให้ศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมภายในเวลาที่กำหนด..

   ถ้าตำรวจไม่ยื่น ประชาชนที่เดือดร้อน ได้รับความเสียหายจากการชุมนุม มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งเลิกชุมนุมได้เช่นกัน..

   ถ้าศาลเห็นว่า การชุมนุมไม่ผิดกฎหมาย.. ก็จะสั่งยกคำร้อง.. 

   ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาล ไปยังศาลอุทธรณ์ได้..

   แต่ถ้าศาลเห็นว่า เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย.. ก็จะมีคำสั่งให้เลิกชุมนุมภายในเวลาที่กำหนด..

   หลังจากนั้น ตำรวจต้องไปแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบคำสั่งของศาล.. 

   เมื่อพ้นเวลาที่ศาลกำหนดแล้ว.. ผู้ชุมนุมยังฝ่าฝืนคำสั่งศาล.. 

   ตำรวจจะยังสลายการชุมนุมไม่ได้.. 

   ตำรวจต้องประกาศกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม.. ห้ามมิให้บุคคลใดออกและเข้าพื้นที่ควบคุมภายในเวลาที่กำหนด..

     เมื่อถึงเวลาที่กำหนดแล้ว.. ผู้ชุมนุมยังไม่ยอมออกจากเขตพื้นที่ควบคุม.. ให้ตำรวจตรวจค้นและจับกุมคนที่ไม่ออกจากพื้นที่หรือเข้ามาในพื้นที่ควบคุมได้..

     ดูกฎหมายทั้งฉบับแล้ว..  ผมไม่เห็นกฎหมายเขียนเลยครับว่า..

  “ให้ตำรวจขับไล่.. ให้ใช้กระบองตี.. ให้ใช้น้ำฉีด.. ให้ใช้น้ำผสมสารระคายเคือง หรือผสมสี ฉีดใส่ผู้ชุมนุมได้..”

   ตำรวจ จึงไม่มีสิทธิสลายการชุมนุม.. 

   #เพราะกฎหมายบอกเพียงว่าให้จับกุมผู้ฝ่าฝืนที่ไม่ยอมออกจากพื้นที่ควบคุมเท่านั้น..

  สรุปว่า.. ตำรวจสั่งห้ามการชุมนุมได้.. แต่ไม่มีอำนาจสั่งเลิกหรือสลายการชุมนุมนะครับ..

  แล้วนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลล่ะ.. มีอำนาจสั่งห้ามการชุมนุมสาธารณะและสั่งสลายการชุมนุมได้มั้ย..

    คราวหน้า.. เราลองมาฟังดูครับ..