การประพฤติ การปฏิบัติ ถ้าเราไปดูแต่ข้างนอก ไปฟังแต่ข้างนอก เราก็มองไม่เห็น หรือเห็นแต่มันละไม่ได้ วางไม่ได้

เช่นว่าความเกิดอย่างนี้แหละ เราก็มองเห็นคนเกิดมา
คนแก่เราก็มองเห็น แต่เราละไม่ได้
คนเจ็บไข้พยาธิเราก็มองเห็น แต่เราละไม่ได้
คนตายเราก็มองเห็น แต่เราละไม่ได้

อันนี้ในพระธรรมคุณท่านจึงบอกไว้ว่า “เอหิปัสสิโก” จงร้องเรียกสัตว์ให้มาดูธรรม ท่านให้มาดูธรรม
“โอปะนะยิโก” ท่านให้น้อมเข้ามา มาดู

ดูความเกิด อะไรมันเกิดเล่า ตัวเรานี้เป็นผู้เกิด
ถ้าเราเห็นความเกิดของเราว่าเป็นตัวทุกข์ มันก็ละเอง
ถ้าเราไม่เห็นในตัวของเราว่าเป็นตัวทุกข์แล้ว มันก็ละไม่ได้

เปรียบอุปมาอุปมัยเหมือนกับเรายกของหนัก ๆ
ถ้าเรารู้ว่ามันหนัก แล้วเราก็วาง
ถ้าเราไม่รู้จักหนัก มันก็ไม่วาง นี่แหละฉันใดก็ฉันนั้น

ถ้าเราเห็นความเกิดเป็นทุกข์แล้ว เราก็หยุดจากการเกิดทั้งหลาย

ถ้าเราเห็นความแก่แล้ว มันก็ถอนราคะ โทสะ โมหะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้ ทั้งความทะเยอทะยานดิ้นรนหรือความอยากทั้งหลาย

นี่ยิ่งเห็นความเจ็บไข้ได้พยาธิ ยิ่งทุกข์แสนทุกข์ ร้องโอยครางโอยอยู่อย่างนี้แหละ
ถ้าเราเห็นอย่างนี้แล้ว ก็ยิ่งวาง ยิ่งละ ละอุปาทาน การยึดทั้งหลายทั้งหมด ว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา สิ่งนี้เป็นของเรา
รวมเข้าแล้ว ตัวเราก็ไม่เป็นของเราแล้ว มีแต่บ่อนเจ็บ มีแต่บ่อนปวด ตรงไหน ๆ ก็เหมือนกัน
เราเห็นจริงแจ้งประจักษ์แล้ว จิตของเราก็ถอนอุปาทานการยึดถือ หรือละสักกายทิฐิได้
รู้ว่าที่ถือว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขา มันเป็นไปไม่ได้

เมื่อเราเห็นเป็นยังงี้แล้ว จิตมันก็สงบภายในได้ มันไม่มีความพัวพันในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ไม่มีความทะยานอยากในสิ่งเหล่านั้น เมื่อรู้ว่าไม่มีแก่นไม่มีสารไม่มีสาระ มันก็เลิกก็ละได้ นี่เป็นข้อสำคัญ

ทีนี้เราน้อมเข้ามาพิจารณาถึงความตาย
เมื่อเห็นความตายเข้าแล้วยิ่งเบื่อหน่าย หมดความกำหนัดยินดี ความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้ามันเห็นอย่างนี้แล้ว มันไม่ได้อะไรสักอย่าง ไม่เป็นแก่นเป็นสาร ไม่มีสาระ มันก็เลยละหมด

สิ้นอุปาทาน การยึดถือ และไม่มีความสงสัย คือ วิจิกิจฉา
สีลัพพตปรามาส การลูบคลำศีล ก็ไม่มี

นี่แหละ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงว่าให้ฟังธรรม น้อมเข้ามาพิจารณาในตัวของเราให้พึงรู้พึงเห็น

จากหนังสือ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๖๒๒

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
๖๑.๐๖.๑๐…