บุญก็คือสิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนกันกับเรือที่จะเป็นพาหนะให้เราได้ขี่ไป

เพราะว่าในโลกนี้พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับมหาสมุทร มหาสมุทรก็แปลงมาเป็นสมุหทัย เป็นเครื่องสมมุติ ก็เท่ากันกับว่าเรากำลังว่ายอยู่ในทะเล

ตามธรรมดาแล้วเมื่ออยู่ในทะเลก็จะต้องมีเรือ
เราได้ขึ้นเรือ เรือจึงเปรียบเหมือนกันกับบุญ ก็สุดแล้วแต่จะขึ้นเรือลำไหน ก็มีรอให้เราขึ้นอยู่ในเมื่อเวลาที่เราทำบุญลงไป

สำหรับจิตใจของคนเรานั้นจำเป็นต้องมีการเตือน

แม้ว่าเราอยู่เฉย ๆ เราก็ต้องมีการเตือน
ถ้าไม่มีการเตือนแล้วเราก็จะต้องทำในสิ่งที่ผิดพลาด แต่ว่าเรามีสิ่งเตือนเรียกว่าการเตือน จึงไม่เกิดการผิดพลาดขึ้น
เพราะฉะนั้นทุกก้าวย่างที่เราเดินไปเดินมา ที่เราพูด ที่เรากิน ที่เราคิด ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเวลาขณะที่เรามีการเตือนทั้งนั้น

การเตือนที่ดีที่สุดนั้นคือพลังจิต ในเมื่อเราทำสมาธิให้เกิดพลังจิตขึ้นแล้ว พลังจิตจะนอนเนื่องในจิตใจของเรา

ก่อนแต่ที่เราจะทำสมาธินั้นเราก็มีอารมณ์มากมายนับเป็นหมื่นเป็นแสน แต่พอเราทำสมาธิเราก็เหลืออารมณ์อันเดียวคือพุทโธ
เมื่อเหลือพุทโธแล้วก็เท่ากับว่าจิตเป็นหนึ่ง
เมื่อพลังจิตถูกผลิตขึ้นมาแล้วก็เก็บไว้ที่ใจของเราแล้วก็เป็นการถาวร เราทำใหม่อีกก็เกิดอีก ทำใหม่อีกก็เกิดอีก เกิดจนกระทั่งเกิดความแข็งแกร่งขึ้นมา ก็เรียกว่าความเตือนนี้ได้แข็งแกร่งขึ้น

ความเตือนนี้นี่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์เป็นอย่ายิ่ง

ถ้าหากว่าขาดการเตือนเมื่อไหร่นี่เราจะลืมทันที
กินข้าวแล้วก็บอกว่ายังไม่ทันได้กิน หรือว่าเอาของไปวางไว้ในห้องน้ำแล้วก็ลืม เอาไปทิ้งซะ แล้วก็พูดไปพูดผิดบ้างถูกบ้าง เผลอเลออะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ว่าเป็นเรื่องการตักการเตือน

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๓ หน้าที่ ๑๘๖
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน

๖๑.๐๔.๐๙