เราต้องสำรวจดูตัวของเราว่าเวลานี้เราได้ทำสมาธิแล้วหรือยัง

บอกว่ายังก็หาโอกาสซะ
ถ้าหากว่าทำแล้วก็พยายามรักษาทำไปเรื่อย ๆ มันก็จะเกิดพลังจิตที่พิเศษ

เพราะว่าพลังจิตพิเศษที่เกิดขึ้นนี้มันเป็นเรื่องที่ทำให้เรามีความสุขจริง ๆ ไม่ใช่พูดกันเล่น ๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแก่มวลมนุษย์ชาติได้อย่างแท้จริง

เพราะเหตุใด
เพราะเหตุว่าอารมณ์ต่าง ๆ ที่มันเข้ามาหาตัวเรานี้มันจะดีบ้างร้ายบ้าง ดีบ้างร้ายบ้าง มันก็มาปั่นป่วนในจิตใจของเรา
เราก็ทนไม่ไหวก็ทำความไม่ดีไป มันกลายเป็นการทำลายไปในตัว

แต่ถ้าหากว่าเราระงับอารมณ์ต่าง ๆ ได้ อารมณ์ต่าง ๆ มันก็ไม่ทำร้ายเราได้

การที่จะระงับอารมณ์ต่าง ๆ ได้มันก็มีอยู่ทางเดียวก็คือสมาธิ
เมื่อมีสมาธิแล้วเราก็ระงับอารมณ์ที่มันร้อนแรงเกิดขึ้นมาได้แล้วก็ไปสู่ความสงบ
เมื่อเราจะเริ่มทำความสงบเราก็มีการบริกรรม เราจะทำสมาธิเราก็บริกรรมพุทโธ ๆ เป็นต้น แล้วจิตมันก็ขจัดอารมณ์ต่าง ๆ ไปหมดเหลือแต่พุทโธอันเดียวนั่นแหละจิตก็เป็นสมาธิแล้ว
พอจิตเป็นสมาธิแล้วจิตก็เริ่มผลิตพลังจิต
เมื่อเริ่มผลิตพลังจิตแล้วพลังจิตก็จะไปนอนเนื่องไว้ที่จิต
เมื่อเราทำต่อไปอีกหลายครั้งพลังจิตอันนี้ก็จะเสริมขึ้น ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดความแข็งแกร่ง

ถึงระยะนั้นเราก็มีความสุขสบายแล้ว
ถึงแม้ว่าเราจะดับชีพทำลายขันธ์เราต้องตายก็ไม่เสียดาย เพราะว่าความดีเราได้สร้างไว้แล้ว สวรรค์เป็นที่รอรับเราอยู่แล้ว อย่างนี้เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้นั้นในเมื่อเราจะทำเราจะต้องมีความอดทน มีความเพียร มีความอุตสาหะวิริยะ
ถ้าเราขาดความเพียร ความอุตสาหะแล้วเราทำไปนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็เลิกซะ อย่างนี้มันก็ไม่สำเร็จผล

เพราะฉะนั้นความเพียรและความอดทนจึงเป็นความสำคัญที่เราต้องมีไว้เป็นอาวุธ
เพื่อที่จะได้ต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ที่มันจะมาขัดขวางในการที่เราจะสร้างสรรค์สมาธิของเราขึ้น

เพราะฉะนั้นก็ให้จำไว้ว่า
ข้อที่ ๑ คือการไม่ทำความชั่วหมายถึงว่าไม่ทำการทำลาย
ข้อที่ ๒ เราทำความดีหมายถึงความสร้างสรรค์
ข้อที่ ๓ การทำสมาธิให้จิตสงบ

๓ ข้อนี้เมื่อเราจำได้ก็จะเป็นสมบัติอันมีค่าแก่เรา

จากหนังสือ ธรรมะรุ่งอรุณ ๔ หน้าที่ ๓๐๗
พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

สวนพนาสนธิ์ ๓/ศูนย์สัมมนาป่าพนาสนธิ์-แบ่งปัน
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา

๖๐.๐๙.๒๓