จับตาศาลชั้นต้นทั่วปทเสนอแก้สัดส่วนก.ต เป็น 4:4:4 จาก 6:4:2
ศาลแตกความเห็นแก้ ก.ม.สัดส่วน ก.ต.
จากกรณีที่ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ออกประกาศรับฟังความคิดเห็น “ร่างพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่…) พ.ศ… (องค์ประกอบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม)
ซึ่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว มาตรา 36 (2) ได้บัญญัติถึง องค์ประกอบ , ที่มา , จำนวนและวิธีเลือกตั้งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)
โดยใน (2) ดังกล่าว บัญญัติว่า กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 คน ซึ่งข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา เป็นผู้เลือกจากข้าราชการตุลาการในศาลของตนเอง ดังนี้ (ก) ศาลฎีกา ให้เลือกจากข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลฎีกา ในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน 6 คน
(ข) ศาลอุทธรณ์ ให้เลือกจากข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลชั้นอุทธรณ์ในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ หรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค จำนวน 4 คน
(ค) ศาลชั้นต้น ให้เลือกจากข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลชั้นต้น ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จำนวน 2 คน
เมื่อเทียบกับจำนวนผู้พิพากษาในแต่ละชั้นแล้ว ปรากฎจำนวนสัดส่วนอัตรากำลังของผู้พิพากษาศาลฎีกา มีจำนวน 150 คน ศาลอุทธรณ์ 750 คน ศาลชั้นต้น 3,849 คน ( ข้อมูลปี2560)
กลับปรากฎจำนวนสัดส่วนของผู้พิพากษาในก.ต เป็นดังนี้ ศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน ศาลชั้นต้น 2 คน (ไม่รวมผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ) หรือ 6:4:2
ทำให้ก.ต จากศาลฎีกา มีจำนวนมาก 6 คนแต่ถูกเลือกจากผู้พิพากษาจำนวนน้อย คือ 150 คน
ส่วนก.ต จากศาลอุทธรณ์ มีจำนวน 4 คน แต่ถูกเลือกจากผู้พิพากษา จำนวน 750 คน
ส่วนก.ต จากศาลชั้นต้น มีจำนวน 2 คน แต่ถูกเลือกจากผู้พิพากษา จำนวน 3,849 คน
ทำให้เกิดการไม่สมดุลย์ สัดส่วน ที่เหมาะสม ทำให้การลงมติในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายหรือพิจารณาลงโทษทางวินัยของผู้พิพากษาโดยรวมขึ้นอยู่กับความเห็นของ ก.ต.ในชั้นศาลฎีกาเป็นสำคัญนั้นไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือแบบมีส่วนร่วม
ทั้งที่ในปัจจุบันผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลขึ้นไปส่วนใหญ่มีอายุราชการเฉลี่ยประมาณ 18 – 23 ปี
ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะและประสบการณ์สูงพอสมควรที่จะเข้ามาเป็น ก.ต.ได้
ดังนั้นการกำหนดสัดส่วน ก.ต.ให้เท่ากันแบบ 4 : 4 : 4 จึงเหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาล
ประเด็นที่กล่าวนี้ เป็นการเสนอความคิดเห็นในการแก้ร่างกฎหมาย มาตรา 36(2) ที่กล่าวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่มีอาวุโสระดับบริหารในศาลพื้นที่ กทม.และส่วนกลาง รวม 300 คน
ประเด็นถัดมาคือ ที่มาของ ก.ต. ตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 196 บัญญัติว่า “ที่มาของ ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้มาจาก ก.ต.แต่ละชั้นศาล” นั้น ซึ่งผู้พิพากษาทุกคนย่อมรู้อยู่แล้วว่าตนเองเป็นผู้พิพากษาในศาลชั้นใด แต่ตาม “ร่างพระราชบัญญัติ มาตรา 36 (2)” กลับบัญญัติ ถึงที่มาของ ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิว่า “ให้เลือกจากข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลชั้น…” โดยจงใจหลีกเลี่ยงที่จะใช้ข้อความตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
ทำให้ที่มาของ ก.ต.ถูกตีความบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์เดิมของรัฐธรรมนูญเพราะอาจทำให้ผู้พิพากษาสามารถแสดงความประสงค์เข้ารับการเลือกตั้งข้ามชั้นศาลของตนเอง และย่อมมีผลให้ผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกตั้งในแต่ละชั้นศาลไม่ใช่ตัวแทนของผู้พิพากษาในศาลชั้นนั้นอย่างแท้จริง เช่น ผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกาเมื่อมาดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์หรือประธานศาลอุทธรณ์ภาคหรืออธิบดีผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น สามารถมาใช้สิทธิรับเลือกตั้ง ก.ต. ในสัดส่วนของศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลชั้นต้นได้ ซึ่งถือว่าเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐบาลนูญฯ ฉบับปัจจุบัน และไม่สอดรับกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ ที่ต้องการให้ คณะก.ต.ที่มีหน้าที่บริหารงานบุคคลต้องเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมาจากผู้พิพากษาในชั้นศาลของตนเอง
เนื่องจากผู้พิพากษาในชั้นศาลใดย่อมรู้สภาพปัญหาและสามารถสะท้อนความคิดเห็นของผู้พิพากษาในศาลชั้นนั้นๆได้ดีกว่าผู้พิพากษาศาลชั้นอื่น อันจะเป็นประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลให้เป็นไปด้วยความถูกต้องเป็นธรรมอย่างแท้จริง
ประเด็นถัดมา คือ การใช้สิทธิเลือกตั้ง ก.ต. ตาม “ร่างพระราชบัญญัติมาตรา 36 (2)” ที่กำหนดให้ผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาลเป็นผู้เลือกตั้ง ก.ต.นั้น เห็นว่า ก.ต.มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาทุกชั้นศาลแต่ผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาลกลับไม่มีสิทธิเลือก ก.ต.ในศาลชั้นอุทธรณ์และศาลฎีกาได้เลยซึ่งอาจทำให้ ก.ต.ในศาลสูงที่มีสัดส่วน ก.ต.จำนวนมากที่ได้รับเลือกตั้งไม่ให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นผู้พิพากษาส่วนใหญ่ของศาลยุติธรรมได้เนื่องจากไม่เป็นผู้มีส่วนลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ก.ต.ในชั้นศาลนั้น
กรณีจึงเห็นสมควรเสนอแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของ ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละชั้นศาล โดยตัดข้อความมาตรา 36 ใน “(2)(ข)(ค)” ออกทั้งหมด และใช้ข้อความต่อไปนี้แทน ” (2) ก.ต.ศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 คน ซึ่งข้าราชการตุลาการในทุกชั้นศาล เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา เป็นผู้เลือกจากข้าราชการตุลาการในทุกชั้นศาล ชั้นศาลละ 4 คน สำหรับศาลชั้นต้นให้เลือกจากข้าราชการตุลาการในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาล”
ประเด็นสุดท้าย คือ ประเด็นการใช้สิทธิของข้าราชการตุลาการซึ่งดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น หรือผู้ซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการในศาลอื่นนั้น ตามมาตรา 36 วรรคสอง บัญญัติให้ข้าราชการตุลาการซึ่งดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น หรือผู้ซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการในศาลอื่น ให้มีสิทธิเลือกและได้รับเลือกเป็น ก.ต.ศาลยุติธรรมซึ่งข้าราชการตุลาการผู้นั้นมีเงินเดือนอยู่ในชั้นศาลนั้นในขณะที่จัดให้มีการเลือก ก็ควรแก้ไขเพิ่มเติมโดยให้ใช้ข้อความว่า “ให้มีสิทธิเลือก ก.ต.ศาลยุติธรรมจากข้าราชการตุลาการในทุกชั้นศาล และมีสิทธิได้รับเลือกเป็น ก.ต.ศาลยุติธรรมในชั้นศาลของตนเอง” แทน และเพิ่มเติมข้อความใหม่ในวรรคท้ายว่า “ให้ ก.ต.ที่ได้รับเลือกตั้งดำรงตำแหน่ง ไปจนครบวาระ เว้นแต่ขาดคุณสมบัติโดยประการอื่น” ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาไม่ต้องมีการเลือกตั้ง
ทั้งหมดนี้คือ ประเด็นที่ผู้พิพากษาอาวุโสระดับบริหารในศาลชั้นต้นดังกล่าว รวม 300 คน เข้าชื่อร่วมขอแก้ไขร่างก.ม ดังกล่าว โดยจะรวบรวมรายชื่อให้ได้ถึง 1000 ชื่อ จากจำนวนผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น จำนวน 3,849 คน
วีคลี่นิวส์ ออนไลน์ ได้ตรวจสอบการเสนอความเห็นประเด็นดังกล่าว เกิดจากการใช้สิทธิตามที่รธน.ปี 60 มาตรา 77 กำหนด ว่า “ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง…และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎมายทุกขั้นตอนฯ เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องเหมาะสม…”
อย่างไรก็ตามเหล่านี้คือเรื่องภายในของศาลยุติธรรม แต่เรื่องภายนอกของสังคม คือเรื่อง การออกก.ม มาตรา23 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ” คดีไม่เป็นสาระ ไม่รับฎีกา ” กับ การฎีกาในข้อเท็จจริง ไม่รับพิจารณา หรือ การต้องขออนุญาตฎีกาในคดี
หรือ คดีสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ นั้น
เป็นความเลื่อมล้ำในความยุติธรรม อันขัดต่อรธน.ที่ควรจะได้มีการหยิบยกขึ้นมาในวงการนี้เช่นกัน โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม ที่ควรเป็นผู้พิจารณา
ใส่ความเห็น