สำเร็จป่วยฉุกเฉินเอกชนเรียกเก็บเงินก่อนมีโทษ เริ่ม 1 เมษายนนี้
สำเร็จป่วยฉุกเฉินเอกชนเรียกเก็บเงินก่อนมีโทษ เริ่ม 1 เมษายนนี้
วันนี้ (31 มีนาคม 2560) ที่ศูนย์ประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้แทนกรมบัญชีกลาง นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ประธานวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แถลงข่าว การดำเนินการนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ที่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการ เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ได้รับการดูแลความสะดวกปลอดภัย รวมทั้งแก้ไขในสิ่งที่เป็นข้อกังวล เช่น นิยามผู้ป่วยฉุกเฉิน อัตราค่าบริการ การจ่ายเงิน การดูแลหลังพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมง เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุข
โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ออกอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล ได้แก่ 1.การจำแนกประเภทผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินที่สถานพยาบาลไม่เรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลใน 72 ชั่วโมง 2. กำหนดหลักเกณฑ์ให้สถานพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน และการส่งต่อผู้ป่วยหากเกินขีดความสามารถเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือภายหลังพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมง 3.หลักเกณฑ์อัตราค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่จะได้รับการชดเชยจากกองทุนต่าง ๆในอัตราที่คณะกรรมการสถานพยาบาลได้เสนอไปและคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา สำหรับอนุบัญญัติ 2 ฉบับแรก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 31 มีนาคม 2560 นี้ และมีผลบังคับใช้ 1 เมษายน 2560 ซึ่งจะได้แจ้งเวียนประกาศฯไปยังสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป
เพื่อให้ผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้รับการดูแลรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลทุกแห่ง ใน 72 ชั่วโมงแรก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย สถานพยาบาลมีเจ้าภาพคือกองทุนต่าง ๆ ชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริการผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ทั้งนี้ ได้กำหนดให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บจากกองทุนต่าง ๆ
ส่วนระบบสำรองเตียงรับผู้ป่วยหลังพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมงจากภาคเอกชนนั้น ในเขตกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานให้โรงพยาบาลรัฐทุกสังกัด รวมทั้งโรงพยาบาลในเขตปริมณฑลรองรับ ในส่วนภูมิภาคโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งพร้อมรองรับเช่นกัน โดยมีเบอร์ศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สพฉ. หมายเลข 02 872 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
ใส่ความเห็น