ฟ้องพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทุจริตประพฤติไม่ชอบ
ฟ้องพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทุจริตประพฤติไม่ชอบ
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อคืนวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้มีข้อความแชร์ผ่านโลกโซเชี่ยลไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือ ไลน์ หรือการส่งต่อสำนวนคำฟ้องในกลุ่มของข้าราชการสำนักตรวจเงินแผ่นดินทั่วประเทศ กรณีที่นายพงศ์ปณต สนิท นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการพิเศษ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบพิเศษ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ 14 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาลคดีอาญานายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในความผิดข้อกล่าวหา เป็นผู้ใช้, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเรียกรับสินบน ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามคดีหมายเลขดำที่ 3766 / 2559 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา โดยศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชประทับรับฟ้องและนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 6 ก.พ. 2560
ในสำนวนคำฟ้องระบุว่า โจทก์ในฐานะนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน ชำนาญการพิเศษ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบพิเศษ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ 14 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้เข้าตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และตรวจพบว่านายวิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับพวก ได้กระทำการทุจริตในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน จึงเสนอรายงานผลการตรวจสอบไปตามระบบราชการ จนถึงนายพิศิษฐ์ ผู้ว่า สตง.
นอกจากนี้โจทก์ยังตรวจพบว่า นายวิจิตรกับพวก ยังเกี่ยวข้องกับการทุจริตในเรื่องอื่น ๆ ด้วยรวมประมาณ 10 ประเด็น ทำให้รัฐเสียหายกว่า 400 ล้านบาท ในเดือน พ.ย.2558 นายวิจิตร กับพวกจึงยื่นฟ้อง นายพิศิษฐ์ ต่อศาลอาญา ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.49/2558 ในความผิดข้อกล่าวหาประพฤติมิชอบ ทำให้นายพิศิษฐ์ขอให้นายวิจิตรถอนฟ้องตัวเอง โดยนายวิจิตร มีข้อแม้ว่านายพิศิษฐ์ จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายวิจิตร มีการนัดเจรจากันที่ศาลอาญาและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหลายครั้ง ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้ตรวจสอบพบการทุจริตของนายวิจิตร กับพวก ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าร่วมเจรจาด้วย “โดยการเจรจาเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2559 ซึ่งในการเจรจานี้นายวิจิตร ได้สั่งให้นายพิศิษฐ์ ปฏิบัติตามคำสั่งของนายวิจิตร 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ให้นายพิศิษฐ์ มีคำสั่งห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของนายพิศิษฐ์ เข้าไปตรวจสอบการทุจริตในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อีก 2 .เรื่องที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบไปแล้วให้นายพิศิษฐ์ หาทางช่วยเหลือเพื่อให้นายวิจิตร กับพวกพ้นความผิด 3.ให้สั่งห้ามตนเข้าไปเกี่ยวข้องใด ๆ กับการตรวจสอบ และ 4 .ให้นายพิศิษฐ์ มีคำสั่งย้ายโจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดอื่นไกลจากนครศรีธรรมราช”
โจทก์ไม่เห็นด้วยที่นายพิศิษฐ์ ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของนายวิจิตร และไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งโดยมิชอบของนายพิศิษฐ์ โจทก์จึงเข้าไปตรวจสอบในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพิ่ม เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2559 และตรวจพบการทุจริตเพิ่มเติมอีก 2 เรื่อง มีการทุจริตการคำนวณปริมาณดินถมพื้นที่ก่อสร้างศูนย์การแพทย์ทำให้รัฐเสียหาย 55 ล้านบาท และพบว่าผู้บริหารของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นตัวการรับจ้างถมดินสถานที่ก่อสร้างศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เสียเอง ซึ่งโจทก์ได้นัดสอบพยานปากสำคัญในวันที่ 15 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา แต่ในวันที่ 9 พ.ย. 2559 นายพิศิษฐ์ได้เดินทางไปต่อรองกับนายวิจิตรที่ศาลอาญา หลังจากนั้นจึงออกคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเลขที่ 623/2559 ย้ายโจทก์จากตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบพิเศษ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ 14 ไปเป็นผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบการดำเนินงาน สำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 2 จ.ชลบุรี
แต่โจทก์ยังไม่ได้รับคำสั่งเพราะติดพันอยู่กับการออกตรวจสอบทุจริตมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายวิจิตร จึงสั่งให้นายพิศิษฐ์ ออกคำสั่งฉุกเฉินกลางดึกของคืนวันที่ 13 พ.ย. 2559 สั่งการมายัง น.ส.อำไพ ยุกตเวทย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ปรึกษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 14 ให้ น.ส.อำไพออกคำสั่งห้ามตนปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. 2559 ซึ่ง น.ส.อำไพ ก็ปฏิบัติการออกคำสั่งสำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 14 เลขที่ 28/2559 ลงวันที่ 14 พ.ย. 2559 สั่งห้ามโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ หากฝ่าฝืนถือว่าตนมีความผิดทางวินัยร้ายแรง
โจทก์จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่สอบปากคำพยานในวันที่ 15 พ.ย. 2559 ตามที่นัดไว้ได้ ในวันที่ 15 พ.ย. 2559 โจทก์จึงได้ยื่นฟ้องความผิดอาญา กับ น.ส.อำไพ ยุกตเวทย์ ข้อกล่าวหากระทำไม่สุจริต และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3682 /2559 ศาลประทับรับฟ้องและนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 23 ม.ค. 2560 และโจทก์ยังได้ยื่นฟ้องนายพิศิษฐ์ ในวันที่ 23 พ.ย. 2559 ดังกล่าวด้วย
นายพงศ์ปณต กล่าวว่า เหตุทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นความจริง พฤติกรรมดังกล่าวส่อไปในทางที่ประพฤติมิชอบ ตนทำเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน เมื่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบแผ่นดินกลับมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตมิชอบ และว่าตนได้ยื่นฟ้องศาลนายพิศิษฐ์ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชตามคดีหมายเลขดำที่ บ.43/2559 เพื่อให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราว และให้นายพิศิษฐ์ผู้ถูกฟ้อง เพิกถอนคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ย้ายตนไปประจำสำนักตรวจสอบพิเศษ ภาค 2 จ.ชลบุรี
“ ในส่วนของการฟ้องคดีอาญาและศาลปกครอง ตนมีข้อมูลพยานหลักฐานชัดเจนทุกขั้นตอนซึ่งจะนำมาแสดงต่อศาล รับรองว่า พยานหลักฐานจำนวนมากที่มีอยู่ จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ จำเลยที่ 1 ดิ้นไม่หลุด ตนจะกอบกู้ภาพลักษณ์ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะต้องกลับมาเป็นเหมือนเดิมให้ได้”นายพงศ์ปณตกล่าว
ทางด้านสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดินพบว่ามีใบปลิวประกาศว่อนกระจายไปในเฟสบุ้คและสื่อต่างๆว่าหากพบว่าผู้ใดนำเรื่องนี้ออกเผยแพร่จะถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท แต่กลับกลายเป็นทำเรื่องให้ยิ่งกระพือมากยิ่งขึ้นและไม่มีใครเชื่อในคำประกาศเตือนดังกล่าว ฃึ่งเรื่องนี้น่าที่นายกรัฐมนตรีควรลงมาดู
แต่จากพฤติกรรมของผว.สตง รายนี้ที่ผ่านมาเร็วๆนี้หากสังเกตุถึงผลงานที่ออกมากล่าวถึงเรื่องการทุจริตของผู้ยิ่งใหญ่หลายคนว่าไม่ผิดและออกมาปกป้องให้ด้วยก็น่าเชื่อว่าคงจะรู้ตัวเรื่องนี้มาก่อนจึงเตรียมเอาคนเส้นใหญ่มาเป็นเกราะกำบัง มาช่วยเหลือ
ใส่ความเห็น