มงคลชีวิตในเรื่องการปฎิบัติตนให้เป็นประโยชน์ย่างมาถึงวิธีการทำตนให้มีวินัย ดังที่ว่า

ดาบคมที่ไร้ฝัก ลูกระเบิดที่ไม่มีสลักนิรภัย
ย่อมเกิดโทษแก่เจ้าของได้ง่ายฉันใด
“ความรู้” และ “ความสามารถ” ถ้าไม่มีวินัยกำกับแล้ว
ก็จะมีโทษแก่ผู้เป็นเจ้าของได้ฉันนั้น
ช่างดาบทำฝักดาบไว้กันอันตราย
ช่างทำระเบิดก็ทำสลักนิรภัยไว้เช่นกัน
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพุทธศาสนิกชน
ให้เป็นคนฉลาดรู้ฉลาดทำแล้ว
จึงทรงสั่งสำทับด้วยว่า “ต้องมีวินัย”

วินัยคือ อะไร ?
วินัย หมายถึง ระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ สำหรับควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ของคนในสังคมให้เรียบร้อยดีงาม เป็นแบบแผน อันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้อยู่ร่วมกันด้วยความสุขสบาย ไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน วินัยช่วยให้คนในสังคมห่างไกลจากความชั่วทั้งหลาย

การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า ถ้าขาดระเบียบวินัย ต่างคนต่างทำตามอำเภอใจ ความขัดแย้งและลักลั่นก็จะเกิดขึ้น ยิ่งมากคนก็ยิ่งมากเรื่อง ไม่มีความสงบสุข การงานที่ทำก็จะเสียผล

ดอกไม้จำนวนมากที่วางรวมกัน หากวางอยู่ระเกะระกะกระจัดกระจาย ก็จะด้อยค่าลง ทั้งยังทำให้รกรุงรังอีกด้วย แต่เมื่อเรานำดอกไม้เหล่านี้มาร้อยรวมเข้าด้วยกันด้วยเส้นด้าย ดอกไม้เหล่านี้ก็จะกลายเป็นพวงมาลัยอันงดงาม เหมาะที่จะนำไปประดับตกแต่งให้เจริญตาเจริญใจ ถ้าประชาชนแต่ละคนเป็นเสมือนดอกไม้แต่ละดอก เส้นด้ายที่ใช้ร้อยดอกไม้ให้รวมกันยู่ออย่างมีระเบียบงดงามนั้นก็เปรียบเสมือนวินัย

วินัยจึงเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมคน ให้คนเราใช้ความรู้ความสามารถไปในทางที่ถูกที่ควร คือทำคนให้เป็นคน “ฉลาดใช้”นั่นเอง

ชนิดของวินัย
คนเรามีส่วนประกอบสำคัญอยู่ ๒ อย่าง คือร่างกายกับจิตใจ
ร่างกาย ของเราขึ้นอยู่กับระบบโลก ต้องพึ่งโลก ร่างกายจึงจะเจริญ
จิตใจ ของเราขึ้นอยู่กับระบบธรรม ต้องพึ่งธรรม จิตใจจึงจะเจริญ
เพื่อให้ชีวิตและจิตใจเจริญทั้ง ๒ ทาง เราจึงต้องดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกันทั้ง ๒ ด้านด้วย

ผู้ที่ฉลาดรู้ ก็ต้องศึกษาให้รู้ ทั้งทางโลกและทางธรรม
ผู้ที่ฉลาดทำ ก็ต้องทำให้เป็นให้ถูกต้อง ทั้งทางโลกและทางธรรม
เช่นกัน ผู้ที่ฉลาดใช้ ก็ต้องมีวินัยทางโลกและวินัยทางธรรมคอยช่วยกำกับความรู้และความสามารถเอาไว้

วินัยทางโลก
วินัยทางโลก หมายถึง ระเบียบสำหรับควบคุมคนในสังคมแต่ละแห่ง เป็นข้อตกลงของคนในสังคมนั้นที่จะให้ทำ หรือไม่ให้ทำบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งบางครั้งเราเรียกชื่อแยกแยะออกไปหลายอย่าง เช่นกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา ข้อบังคับ ระเบียบ ธรรมเนียม ประเพณี คำสั่ง ประกาศ กติกา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้รวมเรียกว่าวินัยทางโลกทั้งสิ้น

วินัยทางธรรม
เนื่องจากเราชาวพุทธมีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ดังนั้นวินัยทางพระ-พุทธศาสนาจึงมี ๒ ประเภท คือ
๑. อนาคาริยวินัย วินัยสำหรับผู้ออกบวช ได้แก่ วินัยของพระภิกษุ สามเณร
๒. อาคาริยวินัย วินัยสำหรับผู้ครองเรือน ได้แก่ วินัยของชาวพุทธชายหญิงทั่วๆไป

อนาคาริยวินัย
จุดมุ่งหมายสูงสุดของนักบวช คือความหมดกิเลส ผู้จะหมดกิเลสได้ ต้องมีปัญญาอย่างยิ่ง ผู้จะมีปัญญาอย่างยิ่งได้จะต้องมีสมาธิอย่างยิ่ง ผู้จะมีสมาธิอย่างยิ่งได้ จะต้องตั้งอยู่บนฐานของศีลอย่างยิ่ง คืออนาคาริยวินัย ๔ ประการ อันเป็นพื้นฐานของความบริสุทธิ์ ได้แก่
๑. ปาฏิโมกขสังวร คือการสำรวมอยู่ในศีล ๒๒๗ ข้อ ที่พระสัมมา-สัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงให้ปฏิบัติ
๒. อินทรียสังวร คือการรู้จักสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เพลิดเพลินไปกับอารมณ์อันน่าใคร่ อันเกิดจากการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และการรับรู้อารมณ์ทางใจ อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู อะไรที่ไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง อะไรที่ไม่ควรดมก็อย่าไปดม อะไรที่ไม่ควรลิ้มชิมรสก็อย่าไปชิม อะไรที่ไม่ควรถูกต้องสัมผัสก็อย่าไปสัมผัส และอะไรที่ไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด
๓. อาชีวปาริสุทธิ คือการหาเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ได้แก่ การ บิณฑบาต สำหรับการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด เช่น การหาลาภสักการะด้วยการ ใบ้หวย การเป็นหมอดู การเป็นพ่อสื่อแม่ชัก การประจบชาวบ้าน จัดเป็นการกระทำที่ผิดพระวินัย
๔. ปัจจยปัจจเวกขณะ คือการพิจารณาก่อนที่จะบริโภคหรือใช้ ปัจจัย ๔ ว่าสิ่งนั้นเป็นเพียงเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่ได้ เหมือนน้ำมันหยอด เพลารถให้รถแล่นไปได้เท่านั้น
พิจารณาดังนี้แล้วย่อมบรรเทาความหลง ความมัวเมาในอาหาร เครื่อง นุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคได้ ทำให้กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน

เมื่อแรกเริ่มพระพุทธศาสนายังไม่มีการบัญญัติวินัย เพราะพระภิกษุยังมีจำนวนน้อย และทุกรูปต่างก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ทราบดีว่าอะไรเป็นสิ่งควรทำหรือไม่ควรทำ ต่อมาพระภิกษุมีจำนวนมากขึ้น และมีผู้ประพฤติไม่ค่อยดีหลงเข้ามาบวชด้วย ไปทำสิ่งที่ไม่สมควรขึ้น พระสัมมาสัม-พุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติวินัยขึ้นทีละข้อ วินัยทุกข้อในพระพุทธศาสนาจึงมีที่มา ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น วินัยข้อแรกในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเพราะมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อสุทิน ได้ย้อนกลับไปร่วมหลับนอนกับภรรยา เพราะบิดามารดา ขอร้องเพื่อให้มีทายาทไว้สืบสกุล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติวินัยข้อ ที่ ๑ ขึ้นว่า “ห้ามเสพเมถุน” เป็นต้น

วัตถุประสงค์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติวินัย
๑. เพื่อรองรับความตั้งอยู่ดีของหมู่สงฆ์
๒. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
๓. เพื่อความสุขสำราญแห่งหมู่สงฆ์
๔. เพื่อความสุขสำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
๕. เพื่อป้องกันอาสวกิเลสอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
๖. เพื่อป้องกันอาสวกิเลสอันจะบังเกิดในอนาคต
๗. เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
๙. เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม
๑๐. เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย เป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญวัฒนาสถาพรสืบต่อไป

อาคาริยวินัย
วินัยสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนที่สำคัญคือ ศีล ๕

ศีล คือ อะไร ?
ศีล แปลว่า ปกติ เป็นวินัยทางธรรมเบื้องต้นของคน เป็นเครื่องจำแนกคนออกจากสัตว์
ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีลักษณะปกติของมันเอง เช่น ปกติของม้าต้องยืนไม่มีการนอน ถ้าม้านอนก็เป็นการผิดปกติแสดงว่าม้าป่วย ฤดูฝนตามปกติจะต้องมีฝน ถ้าฤดูฝนกลับแล้ง ฝนไม่ตก แสดงว่าผิดปกติ

อะไร คือ ปกติของคน ?
ปกติของคนที่สำคัญมี ๕ ประการ ดังนี้คือ
๑. ปกติของคนจะต้องไม่ฆ่า ถ้าวันไหนมีการฆ่า วันนั้นก็ผิดปกติ ของคน แต่ไปเข้าข่ายปกติของสัตว์ เช่น เสือ หมี สุนัขฯลฯ ซึ่งฆ่ากันเป็นทำร้ายกันเป็นปกติ ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๑ จึงเกิดขึ้นมาว่า คนจะต้องไม่ฆ่า
๒. ปกติของสัตว์เวลากินอาหารมันจะแย่งกัน ขโมยกัน ถึงเวลาอาหารทีไรสุนัขเป็นต้องกัดกันทุกที แต่คนไม่เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๒ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่ลัก ไม่คอร์รัปชั่น ไม่ยักยอกคดโกง
๓. ปกติของสัตว์ ไม่รู้จักหักห้ามใจให้พอใจเฉพาะคู่ของตน ในฤดูผสมพันธุ์สัตว์จึงมีการต่อสู้แย่งชิงตัวเมีย บางครั้งถึงกับต่อสู้กันจนตายไปข้างหนึ่งก็มี แต่ปกติของคนแล้วจะไม่แย่งคู่ครองของใคร พอใจเฉพาะคู่ครองของ ตนเท่านั้น ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๓ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้อง ไม่ประพฤติผิดในกาม
๔. ปกติของสัตว์ไม่อาจวางใจได้สนิท พร้อมจะทำอันตรายได้ทุกเมื่อ แต่ปกติของคนนั้น เราพูดกันตรงไปตรงมา มีความจริงใจต่อกัน ถ้าใครโกหกหลอกลวงก็ผิดปกติไป ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๔ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่พูดเท็จ
๕. ปกติแล้วเมื่อเทียบกันโดยสัดส่วนร่างกาย สัตว์มีกำลังร่างกายแข็งแรงมากกว่าคน แต่สัตว์ไม่มีสติควบคุมการใช้กำลังของตนให้ถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่สามารถเปลี่ยนกำลังกายให้เป็นกำลังความดีได้เต็มที่ มีแต่ความป่าเถื่อนตามอารมณ์ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย แม้มีกำลังกายมาก แต่ไม่เคยออกแรงไปหาอาหารมาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ของมัน แต่อย่างใด
ส่วนคนแม้มีกำลังกายน้อยกว่าสัตว์ แต่อาศัยสติอันมั่นคงช่วยเปลี่ยนกำลังกายน้อยๆ นั้น ให้เกิดเป็นกำลังความดี เช่น มีกตัญญูกตเวที เมื่อโตขึ้น ก็เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้
สติเป็นของเหนียวแน่นคงทน แม้อดอาหารทั้งวันสติก็ยังดีได้ ทำงานหนักทั้งเดือนสติก็ยังดีนอนป่วยบนเตียงทั้งปีก็ยังดีได้พักสติก็ยังดี นอนป่วยบนเตียงทั้งปีสติก็ยังดี แต่สติกลับเปื่อยยุ่ยทันที ถ้าไปเสพสุรายาเมาเข้า สุราเพียงครึ่งแก้ว อาจทำผู้ดื่มให้สติฟั่นเฟือนถึงกับ ลืมตัวลงมือทำร้ายผู้มีพระคุณได้ หมดความสามารถในการเปลี่ยนกำลังกายให้เป็นกำลังความดี ดังนั้นผู้ที่เสพสุราหรือของมึนเมา จึงมีสภาพผิดปกติ คือมีสภาพใกล้สัตว์เข้าไปทุกขณะ
ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๕ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้อง ไม่เสพของมึนเมาให้โทษ

ศีลทั้ง ๕ ข้อ คือ
๑. ไม่ฆ่า
๒. ไม่ลัก
๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม
๔. ไม่โกหกหลอกลวง
๕. ไม่เสพของมึนเมาให้โทษ
จึงเกิดขึ้นมาโดยสามัญสำนึก และเกิดขึ้นพร้อมกับโลกเพื่อรักษาความปกติสุขของโลกไว้
ศีล ๕ มีมาก่อนพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับเข้ามาไว้ในพระพุทธศาสนา และชี้แจงถึงความจำเป็นของการมีศีลให้ทราบ ดังนั้นศีลจึง ไม่ใช่ข้อห้ามตามที่คนจำนวนมากเข้าใจ แต่หมายถึงปกติของคนนอกจากนี้ศีลยังใช้เป็นเครื่องวัดความเป็นคนได้อีกด้วย
วันใดเรามีศีลครบ ๕ ข้อ แสดงว่าวันนั้นเรามีความเป็นคนครบบริบูรณ์ ๑๐๐ %
ถ้ามีศีลเหลือ ๔ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๘๐ % ใกล้สัตว์เข้าไป ๒๐ %
ถ้ามีศีลเหลือ ๓ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๖๐ % ใกล้สัตว์เข้าไป ๔๐ %
ถ้ามีศีลเหลือ ๒ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๔๐ % ใกล้สัตว์เข้าไป ๖๐ %
ถ้ามีศีลเหลือ ๑ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๒๐ % ใกล้สัตว์เข้าไป ๘๐ %
ถ้าศีลทุกข้อขาดหมด ก็หมดความเป็นคน หมดความสงบ หมดความสุข ถึงยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว ความดีใดๆ ไม่อาจงอกเงยขึ้นมาได้อีก มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อจะทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น คนชนิดนี้คือคนประมาทแท้ๆ

วิธีรักษาศีลตลอดชีพ
เพื่อรักษาความเป็นคนของตนไว้ให้ดี ชาวพุทธจึงจำเป็นต้องรักษาศีลยิ่งชีวิต การจะรักษาศีลให้ได้เช่นนั้น ต้องอาศัยปัญญาเข้าช่วยจึงจะรักษาไว้ได้โดยง่าย ก่อนอื่นให้พิจารณาว่า
– ศีล แปลว่า ปกติ
– คนผิดศีล คือคนผิดปกติ
– แต่ปัจจุบันนี้ คนผิดศีลจนเป็นปกตินิสัยมีจำนวนมากขึ้นทุกที จนกระทั่งหลายคนเห็นคนมีศีลกลายเป็นคนผิดปกติไป เมื่อความเห็นวิบัติไปเช่นนี้ ประเทศชาติบ้านเมืองที่เคยร่มเย็นตลอดมาจึงต้องพลอยวิบัติ มีการฆ่ากัน โกงกัน ผิดลูกผิดเมีย ฯลฯ จนประชาชนนอนตาไม่หลับ สะดุ้งหวาดระแวงกันไปทั้งเมือง
เราจะให้ผู้ใดมาดับความทุกข์ความวิบัติครั้งนี้?
เราชาวพุทธแต่ละคนนี้แหละคือผู้ดับ เราจะดับทุกข์ด้วยการถือ ศีล ถึงคนอื่นไม่ช่วยถือเราก็จะถือเพียงลำพัง ถ้าเปรียบประเทศไทยเหมือนหม้อน้ำใหญ่ ก็เป็นหม้อน้ำที่กำลังเดือดพล่าน เดือดพล่านเพราะฟืนกว่า ๖๐ ล้านดุ้น คือประชากรประมาณ ๖๐ ล้านคน ที่กระทบกระทั่งกันเพราะขาดศีล ถ้าตัวเรามีศีลเมื่อใดก็เหมือนกับดึงตนเองออกจากกองฟืนไป ๑ ดุ้น แม้น้ำในหม้อจะยังเดือดพล่านอยู่แต่ก็ไม่ใช่เพราะเรา เมื่อแต่ละคนต่างดึงตนเองออกจากกองทุกข์โดยไม่เกี่ยงงอนกันดังนี้ ในไม่ช้าไฟทุกข์ย่อมดับมอดลงเอง ประเทศชาติก็จะคืนสู่สภาพปกติสุขได้
เพื่อเป็นการย้ำความคิดที่จะถือศีลให้มั่นคงตลอดชีพ จำต้องหาวิธี-การที่เหมาะสม ซึ่งมีอยู่วิธีหนึ่งคือ วิธีปลุกพระ ทุกๆ เช้าก่อนออกจากบ้านให้เอาพระเครื่องที่แขวนคออยู่ ใส่ในมือพนม หรือพนมมืออยู่หน้าที่บูชาพระ แล้วตั้งใจกล่าวคำสมาทานรักษาศีล ๕ ดังๆ อย่างนี้

ปาณาติปาตา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่ฆ่า
อทินนาทานา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่ลักขโมย
กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่ประพฤติผิดในกาม
มุสาวาทา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่โกหกหลอกลวง
สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่เสพของมึนเมา

ในทางการแพทย์ โรคที่เกิดขึ้นมี ๒ ประเภท
๑) โรคประจำสังขาร เช่น โรคชรา โรคจากเชื้อโรคที่ระบาดเป็นครั้ง-คราว
๒) โรคที่เกิดขึ้นจากการประพฤติผิด เช่น
ขาดศีลข้อ ๑ ทำให้อายุสั้น เช่น บุคคลประเภทเจ้าพ่อทั้งหลาย ฆ่าคนมา มาก ลงท้ายก็โดนเขาฆ่าเอาบ้าง
ขาดศีลข้อ ๒ ทำให้เกิดโรคประสาท เช่น โรคหวาดผวา โรคจิต
ขาดศีลข้อ ๓ ทำให้เกิดกามโรคหรือโรคเอดส์ได้ง่าย
ขาดศีลข้อ ๔ ทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม ผู้ที่โกหกมากๆ เข้า ลง ท้าย แม้กระทั่งตัวเองก็หลงลืมว่าเรื่องที่ตนพูดขึ้นนั้น เป็นเรื่องจริงหรือโกหก
ขาดศีลข้อ ๕ ทำให้เกิดพิษสุราเรื้อรัง โรคตับแข็ง ก่อการทะเลาะวิวาทได้ง่าย
ดังนั้นหากเรารักษาศีล ๕ ได้ ก็เหมือนได้ฉีดวัคซีนป้องกันสารพัด โรคไว้แล้ว
ในวันพระหรือทุก ๗ วัน ควรถือศีล ๘ ซึ่งมีข้อเพิ่มเติมจากศีล ๕ ดังนี้
ศีลข้อ ๓ เปลี่ยนจากประพฤติผิดในกาม เป็น เว้นจากการเสพกาม
ศีลข้อ ๖ เว้นจากการกินอาหารยามวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงถึงเช้าวันรุ่งขึ้น
ศีลข้อ ๗ เว้นจากการตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับ และของหอม และเว้นจากการดูการละเล่น
ศีลข้อ ๘ เว้นจากการนอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่มและสูงใหญ่
ศีลข้อ ๖-๘ จะควบคุมความรู้สึกทางเพศไม่ให้เกิดขึ้นเกินส่วน และนั่นก็คือ
๑) เป็นการคุมกำเนิดโดยธรรมชาติ
๒) เป็นการลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ไม่มีการแข่งขันประดับประดาร่างกาย ใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างไม่ฟุ้งเฟ้อ
๓) เป็นการทำให้จิตใจสงบเบื้องต้น เพื่อให้ สามารถเข้าถึงธรรมะชั้นสูงต่อไปได้โดยง่าย

อานิสงส์ของศีล
๑. เป็นทางมาแห่งโรคทรัพย์สมบัติ และทำให้สามารถใช้ทรัพยได้เต็มอิ่ม โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน
๒. ทำให้มีชีวิตอยู่ด้วยความเป็นสุข ไม่ต้องหวาดระแวงว่าใครจะมาปองร้าย
๓. ทำให้เกียรติคุณฟุ้งขจรไปว่าเป็นคนเชื่อถือได้ มีอนาคตดี
๔. ทำให้แกล้วกล้าอาจหาญในท่ามกลางประชุมชน
๕. ทำให้เป็นคนไม่หลงลืมสติ มีความจำดี
๖. ตายแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ มีสุคติเป็นที่ไป และเป็นทางดำเนินไม่สู่ มรรคผลนิพพานในที่สุด

ประโยชน์ของวินัย
วินัยทั้งทางโลกและทางธรรมรวมกันแล้วทำให้เกิดประโยชน์ คือ
๑. วินัยนำไปดี หมายความว่า ทำให้ผู้รักษาวินัยดีขึ้น ยกฐานะผู้มีวินัยให้สูงขึ้น เช่น
เด็กกลางถนน เข้าโรงเรียนมีวินัย กลายเป็น นักเรียน
เด็กชาวบ้าน บวชแล้วถือศีล ๑๐ กลายเป็น สามเณร
สามเณร บวชแล้วถือศีล ๒๒๗ กลายเป็น พระภิกษุ
วินัยเป็นข้อบังคับกายวาจาเราก็จริง แต่เป็นข้อบังคับเพื่อให้เราไปถึงที่หมายของชีวิตตามความประสงค์ของเราเอง ถือเป็นอนิสงค์ของการมีวินัย
๒. วินัยนำไปแจ้ง คำว่า แจ้ง แปลว่า สว่าง หรือเปิดเผย ไม่คลุมๆ เครือๆ วินัยนำไปแจ้งคือเปิดเผยธาตุแท้ของคนได้ ว่าไว้ใจได้แค่ไหน โดยดูว่าเป็นคนมีวินัยหรือไม่
๓. วินัยนำไปต่าง เราดูความแตกต่างของคนด้วยวินัย ยกตัวอย่างคนที่ซ่องสุมสมัครพรรคพวกและอาวุธไว้สู้รบกับคนอื่น ถ้ามีวินัยเราเรียกว่า “กองทหาร” เป็นรั้วของชาติ ถ้าไม่มีวินัยเราเรียกว่า “กองโจร”เป็นเสี้ยนหนามของแผ่นดิน คนที่พกอาวุธเดินปนอยู่ในที่ชุมชนอย่างองอาจ

ถ้ามีวินัยเราเรียกว่า “ตำรวจ”เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ถ้าไม่มีวินัยเราเรียกว่า “นักเลงอันธพาล”เป็นผู้พิฆาตสันติสุข

คนที่เที่ยวภิกขาจารพึ่งคนอื่นเลี้ยงชีวิต ถ้ามีวินัยรักษาศีล ๒๒๗ เราเรียกว่า “พระภิกษุ”เป็นบุญของผู้ให้ทาน ถ้าไม่มีวินัยเราเรียกว่า “ขอทาน” อาจสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ถูกขอ

เราต้องการก้าวไปสู่ความดีความก้าวหน้า เราต้องการความบริสุทธิ์กระจ่างแจ้ง เราต้องการยกฐานะให้สูงขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องรักษาวินัย

ผู้มีวินัยดี หมายถึง ผู้ที่รักษาวินัยทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างถูกต้องและเคร่งครัด

โดย  พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ