ที่ประชุม นบข. เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ ร้อยละ 90 เพื่อดูดซับข้าวออกจากตลาด ปริมาณ 2,000,000 ตัน โดยให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรที่มียุ้งฉางจะได้รับเงินที่ตันละ 11,525 บาท  และตันละ 10,995 บาท สำหรับผู้ที่ไม่มียุ้งฉาง

image

นาง อภิรดี ตันตราภรณ์  รมว. พาณิชย์

คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาปริมาณการผลิตข้าวทั่วโลก จะเติบโตร้อยละ 2.4  ส่งผลให้สต็อกข้าวสูงขึ้นร้อยละ 4.3 สวนทางกับการบริโภคที่ลดลงร้อยละ 1.5

ประกอบกับผลผลิตข้าวในประเทศไทยจะเริ่มออกสู่ตลาด ตั้งแต่เดือนเดือนตุลาคมถึงธันวาคม รวมปริมาณ 10 ล้านตัน กดดันราคาข้าวให้ลดต่ำลง และเกษตรกรต้องเร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำ ทำให้ข้าวโตไม่เต็มที่และมีความสูงเกินร้อยละ 30 จากปกติความชื้น ร้อยละ 15

ที่ประชุม นบข. จึงเห็นชอบมาตรการแทรกแซงราคาผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง ร้อยละ 90 ของราคาตลาดที่ตันละ 9,700 บาท

โดยเกษตรกร จะได้รับการช่วยเหลือตันละ 8,730 บาท  และให้ค่าช่วยเหลือเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ รวมทั้งค่าเก็บข้าวในยุ้งฉาง 1,500 บาทต่อตัน จะจ่ายให้ทันที 1,000 บาท และจ่ายอีก 500 บาทเมื่อไถ่ถอน รวมเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือ ตันละ 11,525 บาท

ส่วนเกษตรที่ไม่มียุ้งฉาง จะได้รับการช่วยเหลือตันละ 10,995 บาท รวมค่าเก็บรักษาข้าว สามารถนำข้าวไปฝากในยุ้งฉางของสหกรณ์หรือวิสาหกิจ โดยรัฐบาล มีเป้าหมายชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ 2,000,000 ตัน มีผลบังคับใช้ทันที ส่วนมาตราการช่วยเหลือข้าวชนิดอื่นๆ จะพิจารณาเมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดอีกครั้ง

กระทรวงพาณิชย์ จะเข้าไปดูแล ตรวจสอบโรงสี ไม่ให้กดราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกร โดยให้โรงสีติดป้ายแสดงราคารับซื้อข้าวให้ชัดเจน ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตั้งเครื่องมือวัดความชื้น ป้องกันการเอาเปรียบเกษตรกร ทั้งนี้ จะออกตรวจสต็อกข้าวของผู้ส่งออกทุกรายอย่างเข้มงวด โดยให้มีสต็อก ไม่ต่ำกว่า 500 ตัน

ส่วนการรวมกลุ่มขายข้าวออนไลน์ของเกษตรกร นางสาววิบูลลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ สามารถทำได้และไม่ผิดกฎหมาย  เพราะผู้ขายเป็นเจ้าของข้าว แต่หากต้องการได้รับความคุ้มครอง ก็ให้มาจดทะเบียนการทำธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยขณะนี้ได้ให้กรมการค้าภายในและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมหาแนวทางให้ชาวนาและผู้ประกอบการค้าข้าว ทำการค้าผ่านออนไลน์ได้ตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการให้เป็น สมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อเชื่อมโยงการซื้อขายกับผู้บริโภคผ่านระบบออนไลน์ได้

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอกระทรวงการคลัง พิจารณามาตรการลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนที่ช่วยกันซื้อข้าวเก็บสต็อก เช่นเดียวกับที่ขอลดหย่อนภาษีสำหรับการท่องเที่ยว รวมถึงเตรียมเจรจากับภาคเอกชน เช่น ปตท. บางจาก ให้ช่วยทำโครงการเติมน้ำมันแจกข้าว เพื่อให้ข้าวออกมาอยู่ในมือผู้บริโภคให้มากที่สุด