ธรรมะสวัสดี – มงคลในการดำเนินชีวิต “ตั้งตนชอบ”
สร้างความพร้อมให้ตัวเองเพื่อนำไปสู่ความเป็นมงคลชีวิตให้ตนเอง วันนี้มาถึงเรื่อง การตั้งตนชอบ คืออย่างไร เป็นอย่างไร
เรือที่ฝ่าคลื่นอยู่กลางมหาสมุทร
จะแล่นถึงฝั่งได้
นายเรือจะต้องตั้งจุดหมายปลายทางไว้ถูกต้อง
และรู้จักควบคุมหางเสือให้เรือวิ่งไปไม่ผิดทิศทางฉันใด
คนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้
ก็จะต้องตั้งตนชอบฉันนั้น
ตั้งตนชอบหมายถึงอย่างไร ?
ตั้งตนชอบ หมายถึง การตั้งเป้าหมายชีวิต ทั้งทางโลกและทางธรรมไว้ถูกต้อง แล้วประคับประคองตนให้ดำเนินชีวิตไปตามเป้าหมายนั้น ด้วยความระมัดระวัง
การตั้งตนชอบเป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นขั้นตอนแรกในการสร้างความสุข ความเจริญก้าวหน้าแก่ชีวิต เพราะถ้าใครตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ผิด เช่น ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นโจรที่ปล้นเก่งที่สุด หรือจะเป็นนักผลิตเฮโรอีนที่เก่งที่สุด แล้วพยายามดำเนินชีวิตไปตามนั้น คนๆ นั้นก็ไม่มีทางที่จะมีความสุขความเจริญก้าวหน้าได้ ถึงจะไปเสาะแสวงหาความรู้ความสามารถได้มากเพียงไร ก็ไม่เกิดประโยชน์ อันใด เพราะความรู้ความสามารถนั้นๆ ล้วนเป็นไปเพื่อยังความพินาศให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสิ้น
ผู้ที่รักความก้าวหน้าทั้งหลาย จึงจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายชีวิตให้ถูกต้องก่อน จากนั้นจึงไปเสาะแสวงหาความรู้ความสามารถ พากเพียรพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้องนั้นให้ได้
อะไร คื อ เป้าหมายชีวิต ?
เป้าหมายชีวิตของคนทุกคนแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ ได้แก่
๑. เป้าหมายชีวิตขั้นต้น คือการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาตินี้ เป็นการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องตั้งตัวตั้งฐานะให้ได้ ด้วยการประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม จะเป็นอาชีพอะไรก็ตามแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล จะเป็นนักธุรกิจ แพทย์ วิศวกร ชาวนา ชาวไร่ หรืออื่นๆ ได้ทั้งนั้น ขอแต่เพียงให้เป็นอาชีพสุจริตก็แล้วกัน และเมื่อตั้งเป้าหมายชีวิตไว้แล้ว ก็มุ่งมั่นฝึกฝนตนเองสร้างตัวให้บรรลุเป้าหมายชีวิตนั้นให้ได้
“หนูตัวเล็กๆ ยังสู้อุตส่าห์ขุดรูอยู่
นกกระจิบกระจอกยังสู้อุตส่าห์สร้างรัง
เราเกิดมาเป็นคนทั้งทีก็ต้องสร้างฐานะให้ดีให้ได้”
๒. เป้าหมายชีวิตขั้นกลาง คือการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาติหน้า เป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่า นอกจากจะพยายามตั้งฐานะของตนให้ได้แล้ว ก็จะตั้งใจสร้างบุญกุศลอย่างเต็มที่ในทุกๆ โอกาสที่อำนวยให้ เพื่อสะสมเป็นทุนเป็นเสบียงในภพชาติต่อไป เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วไม่สูญ ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ก็ยังต้องเกิดใหม่อีกอยู่ร่ำไป
คนบางคนคิดแต่จะหาประโยชน์เฉพาะในชาตินี้ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ชาติหน้าเลย คิดแต่จะหาทรัพย์จะตั้งฐานะให้ได้ โดยไม่ประกอบการบุญการกุศล เราลองคิดดูว่า ชีวิตของคนประเภทนี้จะมีคุณค่าสักเพียงไร ตั้งแต่เกิดก็อาศัยพ่อแม่เลี้ยง พอโตขึ้นหน่อยก็เรียนหนังสือหาความรู้ ครั้นโตขึ้นอีกก็ทำงาน มีครอบครัวเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ดิ้นรนหาสิ่งต่างๆ มาบำรุงบำเรอตน แล้วก็แก่เฒ่าตายไป ดูพวกนกกา ตั้งแต่เล็กมันก็อาศัยพ่อแม่เลี้ยง สอนบิน สอนให้รู้จักหาอาหาร โตขึ้นก็แยกรังไปมีครอบครัว หาอาหารมาเลี้ยงลูกเลี้ยงตัว หาความสุขตามประสานกกา แล้วก็แก่เฒ่าตายไปเหมือนกัน ถ้าคนเราเกิดมาแล้วมีชีวิตอยู่เพียงเท่านี้ ก็มีคุณค่าไม่ต่างอะไรกับนกกา
แต่นี่เราเป็นคน มีโครงร่างเหมาะแก่การใช้ทำความดีมากที่สุด ดังนั้น นอกจากความพยายามตั้งฐานะในชาตินี้ให้ได้แล้ว เราทุกคนจึงควรที่จะรู้จักสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิต ด้วยการตั้งใจทำความดี ประกอบการบุญการกุศลอย่างเต็มที่ เพื่อไว้เป็นเสบียงในการเดินทางข้ามภพข้ามชาติ และเป็นปัจจัยในการบรรลุถึงเป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุด
๓. เป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุด คือการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่ การตั้งใจปฏิบัติธรรมทุกรูปแบบเพื่อปราบกิเลสให้หมดสิ้นแล้วเข้านิพพานตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลาย จะได้มีแต่ความสุขอันเป็นอมตะ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
โดยธรรมชาติ ทุกชีวิตเมื่อยังไม่หมดกิเลส ก็ต้องทนรับทุกข์กันไป มากบ้างน้อยบ้างตามแต่กรรมที่ตนทำไว้ เราเวียนเกิดเวียนตายกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว ถ้ามีใครสามารถเอากระดูกของเราทุกชาติมากองรวมกันเข้าก็จะสูงท่วมภูเขา ถ้าเอาน้ำตาของเราที่หลั่งไหลออกมาเพราะความทุกข์ทุกๆ ชาติมารวมกัน ก็จะมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก ใครสามารถเข้านิพพานได้ก่อนก็หมดทุกข์ก่อน ที่ยังอยู่ก็ต้องเวียนเกิดเวียนตายในทะเลทุกข์แห่งวัฏฏสงสารต่อไป
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับพวกเรา แต่พระองค์ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ถูกต้อง คือตั้งเป้าไว้ว่าจะกำจัดกิเลสในตัวให้หมดโดยเร็ว แล้วนำตนเองและผู้อื่นเข้านิพพานด้วย จากนั้นก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียร ฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่มานับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้มีอุปสรรคหนักหนาสาหัสเพียงไรก็ไม่ย่อท้อ สละได้แม้เลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาเป้าหมายที่จะเข้านิพพานไว้ไม่ให้คลอนแคลน ในที่สุดพระองค์ก็ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถกำจัดกิเลสได้หมด เข้านิพพานอันบรมสุขได้
ส่วนพวกเรามัวเที่ยวเถลไถล เกะๆ กะๆ ไม่เอาจริง ไม่ตั้งใจมุ่งมั่นในการทำความดี บ้างก็ยังไม่รู้เป้าหมายสูงสุดของชีวิตว่า คือการเข้านิพพาน บ้างก็รู้แล้ว แต่เกียจคร้านประพฤติย่อหย่อน ทำๆ หยุดๆ จึงต้องมาเวียนเกิดเวียนตายรับทุกข์อยู่อย่างนี้
ฉะนั้น ถ้าใครฉลาดก็ต้องรีบแก้ไขตนเอง ตั้งเป้าหมายสูงสุดของชีวิตไว้ให้มั่นคงไม่ประมาทในการสร้างความดี หมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ชำระกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพื่อกำจัดกิเลสให้หมดจะได้พ้นทุกข์เข้านิพพาน ได้รับความสุขอันเป็นอมตะตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง
“จงอย่าประมาท เร่งเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา
ถึงจะทำประโยชน์ให้คนอื่นมากมาย
ก็ไม่ควรละทิ้งจุดหมายปลายทางของตน
เมื่อรู้ว่าอะไรคือจุดหมายปลายทางแล้ว ก็ควรใส่ใจขวนขวาย”
ข้อเตือนใจ
คนบางคนเริ่มแรกก็ตั้งเป้าหมายชีวิตดีอยู่ เช่น ตั้งใจจะทำมาหากินโดยสุจริต แต่กำลังใจยังไม่เข้มแข็งพอ ครั้นทำไปนานเข้าเริ่มรู้สึกว่ารวยช้าไป ไม่ทันใจ เป้าหมายชีวิตชักเขว ลงท้ายเลยไปคดโกงคนอื่นเขา ต้องติดคุกติด ตะรางไป หรือบางคนตั้งใจจะให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา แต่พอถูก คนอื่นเย้าแหย่บ้าง ล้อเลียนบ้าง เจอสิ่งยั่วยุอยู่เรื่อยๆ เลยเลิกปฏิบัติธรรม ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลส
ทำอย่างไร เราจึงจะป้องกันตัวเราไม่ให้เป็นอย่างนั้นบ้าง?ทำอย่างไร จึงจะรักษาเป้าหมายชีวิตของเราไว้ให้มั่นคง
วิธีรักษาเป้าหมายชีวิตให้มั่นคง
๑. ฝึกให้เป็นคนมีศรัทธา ได้แก่ มีเหตุผล เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ การเชื่อมี ๒ แบบ คือ
๑.๑ เชื่ออย่างมีเหตุผล ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า ศรัทธา
๑.๒ เชื่ออย่างไร้เหตุผล ปราศจากปัญญา เรียกว่า งมงาย
ศรัทธาขั้นพื้นฐาน ๔ ประการ คือ
– เชื่อกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริงไม่ว่างเปล่า เมื่อทำอะไรแล้วย่อมเป็น กรรม คือเป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน
– เชื่อในผลของกรรม คือเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โดยการทำดี นั้นจะต้องทำให้ครบองค์ประกอบ ๓ ประการจึงจะได้ดี คือต้องทำให้
ถูกดี คือมีปัญญาสามารถทำถูกวัตถุประสงค์ของงานนั้น
ถึงดี คือมีความพยายามที่จะทำงานนั้นให้เต็มตามความสามารถ
พอดี คือมีสติดี ไม่ทำจนเลยเถิดไป เผื่อเหนียวมากไปจนเกิดความเสียหาย
– เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน คือเชื่อว่าบุญและบาป อันเป็นผลของกรรมดีและกรรมชั่ว ย่อมติดตามบุคคลผู้ทำนั้นตลอดไป
– เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง เชื่อในพระปัญญาการตรัสรู้ของพระองค์
๒. ฝึกให้เป็นคนมีศีล อย่างน้อยศีล ๕ (รายละเอียดของศีล โปรดดูในมงคลที่ ๙)
๓. ฝึกให้เป็นคนมีความรู้ เป็นพหูสูต คือหมั่นศึกษาหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม
๔. ฝึกให้เป็นคนมีจาคะ คือรู้จักเสียสละ เช่น
๔.๑ สละทรัพย์สิ่งของเป็นทาน เป็นการกำจัดความตะหนี่ออกจากใจ จึงเป็นที่รักของคนทั้งหลาย
๔.๒ สละอารมณ์บูดเป็นทาน คือละอารมณ์โกรธพยาบาท ให้เป็นอภัยทาน ทำให้ใจเป็นสุขไม่ขุ่มมัว
๕. ฝึกสมาธิเพื่อให้ใจผ่องใส เกิดปัญญา ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุดเพราะจะเห็นได้ว่า สาเหตุที่ทำให้เป้าหมายชีวิตของเราคลอนแคลนนั้น เป็น เพราะใจของเราขาดความมั่นคง ทนต่อความยั่วยุไม่ได้ แต่การฝึกสมาธิภาวนาเป็นการฝึกใจโดยตรง ทำให้ใจของเรามีพลัง มีความหนักแน่นเข้มแข็งในการรักษาเป้าหมายชีวิตไว้ได้โดยสมบูรณ์และมีปัญญารู้จักวางเป้าหมายชีวิตไว้ถูกต้องรวมทั้งสามารถปฎิบัติตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ดีแล้วนั้น
การฝึกทั้ง ๕ ประการนี้ นิยมเรียกว่า สารธรรม แปลว่า ธรรมที่เป็นแก่น ถ้าผู้ใดมีคุณธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้ ชื่อว่า เป็นคนที่มีแก่นคนอย่างแท้จริง สามารถตั้งตนชอบได้
อานิสงส์การตั้งตนชอบ
๑. เป็นผู้สามารถพึ่งตนเองได้
๒. เป็นผู้ไม่ประมาท
๓. เป็นผู้เตรียมพร้อมไว้ดีแล้วก่อนตาย
๔. เป็นผู้มีความสวัสดีในทุกที่ทุกสถาน
๕. เป็นผู้บูชาพระรัตนตรัยอย่างสูงสุด
๖. เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ
๗. เป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง
๘. เป็นผู้ป้องกันภัยในอบายภูมิ
๙. เป็นผู้มีแก่นคน สามารถตักตวงประโยชน์จากชีวิตได้เต็มที่
๑๐. เป็นผู้ได้รับสมบัติทั้ง ๓ โดยง่าย คือมนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ และ นิพพานสมบัติ
ฯลฯ
“มารดาบิดา ก็หรือญาติเหล่าอื่น พึงทำเหตุนั้นให้ไม่ได้ แต่จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบแล้ว พึงทำเขาให้ประเสริฐกว่าเหตุนั้นได้”
ใส่ความเห็น