ความเพียร
กยิรา เจ กยิราเถนํ ถ้าจะทำ ก็ควรทำให้จริง
ภาษิตนี้พระพุทธเจ้าตรัสเล่าแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อคืนมีเทพบุตรชื่อตายนะเข้าเฝ้า…เทพบุตรแสดงว่า “ทำอะไร ก็ควรทำให้จริง” เมื่อบวชแล้ว ก็จงพยายามตัดตัณหา ละกาม บำเพ็ญสมาธิ ไม่ควรทำความชั่ว เพราะบรรพชาที่ย่อหย่อนจากวัตรปฏิบัติ จะทำให้ความเป็นสมณะสมบูรณ์ไม่ได้ มีแต่เกิดโทษ หมักหมกโทษภัยไว้เท่านั้น

น หิ จินฺตมยา โภคา อิตฺถิยา ปุริสสฺส วา โภคะของใคร ๆ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง หาสำเร็จเพียงแค่คิดไม่
พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ทรงปรารภมหาเนกขัมมบารมี คือการออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ ตรัสเล่า “มหาชนกชาดก” ว่าด้วยพระมหาชนกโพธิสัตว์เสด็จครองราชย์ในเมืองมิถิลา แล้วทรงระลึกถึงผลของความเพียรของพระองค์ ทรงเปล่งอุทานด้วยภาษิตเป็นอันมาก เช่น เรื่องที่ว่าเราจะครองราชย์สมบัติโดยไม่ต้องรบ เรามิได้คิดไว้, ส่วนเรื่องที่ว่าเราจักขนทรัพย์จากสุวรรณภูมิมาเพื่อรบ แล้วครองราชย์สมบัตินี้เราคิดไว้ ทั้งสองเรื่องนั้น บัดนี้ เรื่องที่เราคิดไว้หายไปแล้ว เรื่องที่เรามิได้คิดไว้ได้เกิดขึ้น, เราอยากให้รู้ว่าทรัพย์สมบัตินั้นไม่อาจสำเร็จได้เพียงแค่คิด, ควรทำความเพียร
(จากพุทธภาษิต ฉบับเรื่องเล่าขยายความ สำนักพิมพ์รติธรรม)

เมื่อเรามีความตั้งใจ มีความปรารถนาในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ความขยันหมั่นเพียร ความเพียรเป็นธรรมที่สำคัญ อยากได้แต่ไม่ทำ จะสำเร็จได้อย่างไร จำเป็นต้องมีความจริงจังและจริงใจต่อตน
การคิดที่ดี หรือความตั้งใจที่ดีนั้นจำเป็นต้องอาศัยกำลัง อาศัยพลังที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ ฐานกำลังที่สำคัญนั้นเราก็ต้องสร้างขึ้น สมถะหรือสมาธินั้นเป็นการสร้างฐานกำลังที่ดีที่สุดแก่ใจตน ศึกษาให้เข้าใจหนทาง กระทำให้มาก เจริญให้มาก ที่สุดก็จะสำเร็จได้ตามประสงค์จำนงหมาย


รังสรรค์ อินทร์จันทร์
ที่ปรึกษา งานพัฒนาบุคคลสู่ความเป็นเลิศ
27/06/59