ธรรมะสวัสดี – สติปัญญา
สติปัญญา
สติ โลกสฺมิ ชาคโร สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก
พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เทวดาตนหนึ่ง เทวดาทูลถามว่า “อะไรเล่า เป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก?” จึงตรัสตอบภาษิตนี้
ความไม่มีสติ เป็นดุจการหลับของผู้ประมาท ส่วนคนมีสติเป็นดุจคนตื่นอยู่อย่างไม่ประมาท การมีสติตื่นอยู่ย่อมเป็นปฏิปักษ์กับความหลับ
บุคคลแม้กล่าวว่าตนตื่นอยู่ ตื่นแล้ว แต่หากว่าไม่มีสติก็ยังเรียกว่าหลับอยู่
สติเป็นธรรมเครื่องตื่น ความตื่นของสติจะปรากฏในรูปความรู้ตัว ความสำรวม รอบคอบ ไม่ประมาท สำรวจป้องกัน กระทำให้จิตออกจากความหลับ คือ ความไม่มีสติ
ปญฺญา นรานํ รตนํ ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เทวดาตนหนึ่ง เทวดาทูลถามว่า “อะไรเล่าเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย?” จึงตรัสตอบด้วยภาษานี้
ปัญญาเป็นรัตนะเพราะชนทั้งหลายยำเกรง เช่น ปัญญาของพระพุทธเจ้าเป็นต้น บุคคลผู้มีปัญญาเครื่องนำออกจากทุกข์ เป็นผู้ที่หาได้ยากยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมทั้งหลาย
คนทั้งหลายต่างต้องการมีปัญญาทั้งนั้น เพราะปัญญาจักช่วยให้พ้นทุกข์ได้
(จากหนังสือพุทธภาษิต ฉบับเล่าเรื่องขยายความ สำนักพิมพ์รติธรรม)
ข้อนี้เป็นธรรมที่สำคัญ ในฐานะที่เราเป็นคน คนนั้นมีสติปัญญา หลายระดับ ที่แย่หน่อยสติอ่อน สติวิปลาส ระดับปรกติ สติธรรมดา สูงขึ้นเป็นสติมั่นคง และสูงขึ้นได้อีกหลายขั้นตอน จนถึง สติมรรค
ส่วนปัญญานั้นมีหลายชนิด เช่น ปัญญาเร็ว ปัญญาทำลายกิเลส ปัญญามาก ปัญญาคมกล้า ปัญญากว้างขวาง ปัญญาลึกซึ้ง ปัญญาไม่ใกล้ ปัญญาหนาแน่น ปัญญาร่าเริง
เรื่องสติและปัญญา เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งเป็นอันมาก เป็นเรื่องที่น่าศึกษา และน้อมนำมาปฏิบัติตนเพิ่มพูนสติ และปัญญาให้แก่ตน
โชคดีมากที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้โอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรม โอกาสแห่งความสุขและความสำเร็จ โอกาสแห่งความเจริญก้าวหน้ามีแก่เราทุกคนแล้ว เมื่อได้ศึกษาและปฏิบัติตามคำสั่งคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ ผลดีย่อมเกิดขึ้น 1.ศรัทธา ความเชื่อมั่น ความมั่นใจ 2.วิริยะ ความเพียร ทำให้มาก เจริญให้มาก 3.สติ ความระลึกได้ 4.สมาธิ ความสงบความตั้งมั่น เป็นฐานกำลังที่สำคัญ 5.ปัญญา ความรอบรู้ พัฒนาเป็นปัญญาญาณ และรู้แจ้งเห็นจริงในที่สุด หลักการทั้ง 5 ข้อนี้เป็นธรรมที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ขออวยพรให้ทุกท่านได้รับความสุขและความสำเร็จ
รังสรรค์ อินทร์จันทร์
ที่ปรึกษา งานพัฒนาบุคคลสู่ความเป็นเลิศ
20/06/59
ใส่ความเห็น