หลังจากศาลฎีกาตัดสินคดีทางการแพทย์ให้คนไข้น้องหมิวชนะคดี เป็นเหตุให้นายกแพทย์สภาออกมาด่ากราด ฟาดหัวฟาดหาง ที่แพ้คดี

ส่งผลให้สังคมต่าง”เทข้าง”เกิดเป็นแรงผลักดันให้ศาลจัดโครงการอบรมแพทย์เพื่อขึ้นทะเบียนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมตั้งเป้าไว้สี่รุ่น รุ่นแรกสมัครถึง 80คน เร่ิมอบรมปลายเดือนนี้

ขณะเดียวกันศาลได้จัดเวทีเสวนา”ผ่าตัดคดีแพทย์ สิทธิแพทย์ สิทธิผู้ป่วย” เมื่อเร็วๆนี้ กำหนดการออกมาแล้วถึงวันเสวนาจริงมีการเปลื่ยนแปลงเอาใจบรรดาแพทย์ๆขึ้นพูดกันหลายคน ขณะที่ฝ่ายภาคประชาชนผู้เสียหาย ผู้ตกเป็นเหยื่อ ขึ้นพูดได้คนเดียว แถมยังเอาไปไว้พูดเป็นคนสุดท้ายเกือบเลิกรายการ

แสดงถึงสถานะต้นทุนทางสังคมอย่างชัดเจน

image

ในการเสวนาครั้งนี้ฝ่ายศาลได้พูดชี้แจงถึงหลักการในการตัดสินคดีว่ามีหลักการอย่างไรในการพิพากษา ยึดหลักอะไรในการตัดสิน โดยเฉพาะผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา นาง เมทินี ชโลธร ได้อธิบายถึง ทำไมคดีทางการแพทย์ต้องเข้าไปอยู่เป็นคดีผู้บริโภค

เมื่อได้ฟังแล้ว เป็นการพิจารณาตามตัวบทกฎหมายที่รัฐเป็นผู้กำหนดคำนิยาม ของคำว่า สถานบริการ ผู้ให้บริการ จะแยกแตกต่างจากการบริการอย่างอื่นได้อย่างไรเมื่อการไปโรงพยาบาล การไปรักษา คือการไปรับบริการ มีการจ่ายเงินค่าบริการ

ไม่ใช่เป็นการไปรักษาฟรี เพราะยังต้องร่วมจ่ายสามสิบบาท โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเห็นได้ชัดว่า”ต้องมีเงินเท่านั้น”จึงจะใช้บริการ”รักษา”ได้

ผู้เขียนเห็นด้วยว่า คดีทางการแพทย์ ควรจะอยู่ในคดีผู้บริโภค เพราะจะทำให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ โดยไม่ต้องแลกด้วยเงิน(ค่าธรรมเนียม)ศาล

มีคดีเป็นจำนวนมากในศาลแพ่ง ที่ศาลเรียกให้จำเลยหรือฝ่ายที่แพ้คดีต้องวางเงินสู้คดี หากไม่วาง คดีเป็นที่สิ้นสุด หรือแม้จะมีการร้องของดค่าธรรมเนียมก็ตาม ศาลก็ไม่ได้พิจารณาอนุญาตได้ง่ายๆ

สุดท้ายผู้เสียหายทางการแพทย์จะไม่มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้แน่นอน

การที่ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ในคดีผู้บริโภค จะทำให้หมอและบุคลากรทางการแพทย์ ที่กระทำการผิดพลาด จะถูกนำคดีไปฟ้องเป็นคดีอาญามากขึ้น เพราะคดีอาญาจะเป็นคดีที่รัฐเป็นโจทก์ ให้แทน

การตกหนักจึงจะเป็นของฝ่ายหมอและบุคลากร ดังนั้นจึงมีความพยายามจากกรมการแพทย์ในเรื่องนี้ว่าควรจะให้คดีทางการแพทย์ขึ้นอยู่เป็นคดีทางศาลปกครอง

เป็นการเสนอในมุมมองด้านเดียว คือกรณีของหมอสังกัดรัฐ แต่กรณีหมอสังกัดโรงพยาบาลเอกชน กับเอกชน จะใช้บริการทางศาลปกครองได้หรือ

เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดคดีทางการแพทย์เข้าเป็นคดีทางการปกครอง กับความหมายของการจัดตั้งศาลปกครองกับความหมายของการมีชีวิตของคนไข้
จะสามารถสานสัมพันธ์ในข้อกฎหมายของศาลปกครองได้อย่างไร

เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาต่อไปในภายภาคหน้าที่เห็นแล้วว่าการนำคดีทางการแพทย์เข้าไปอยู่ในคดีผู้บริโภคแล้วไม่ได้ผล

แต่ทุกวันนี้ “ได้ผลดี” อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ท่านผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ท่านนี้กล่าวได้อย่างให้ข้อคิดไปยังหมอและคนไข้คือ จงสร้างสะพานดีกว่าสร้างกำแพง เป็นการให้ข้อคิดที่ทุกฝ่ายควรเอาไปปรับทัศนคติ โดยเฉพาะแพทย์สภา ที่มีภาพพจน์ของผู้ใหญ่รังแกเด็ก มาตลอด

แต่ก่อนความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ เป็นไปด้วยความเมตตา หมอกานต์ ยังอยู่ในความทรงจำของคนไข้ แต่หลังจากมีการเอาจริยธรรมหมอทิ้งขว้างไปแลกกับผลประโยชน์ทางการเงิน จากการเปิดโรงพยาบาลเอกชนเป็นดอกเห็ด ก็ทำให้ความสัมพันธ์นั้นหมดไปแล้ว

ยังมีการนำนโยบายของรัฐที่ต้องดูแลสาธารณสุขของประชาชน มากล่าวอ้างว่าเป็นผลทำให้โรงพยาบาลขาดทุน หมอไม่อยากรักษา คนไข้เยอะ

ต้องให้ประชาชน”ร่วมจ่าย”ทั้งที่ความเป็นจริง การขาดทุนนั้นเป็นเพราะขาดการตรวจตรา ระมัดระวัง ของฝ่ายบริหารโรงพยาบาลที่ไม่มีความสามารถในการบริหาร ปล่อยปละละเลยให้มีการรั่วไหล ไม่เป็นไปตามระบบงบประมาณที่วางไว้ แต่นำงบประมาณไปใช้จ่ายในทางอื่น หรือปล่อยให้มีการทุจริตในองค์กร

มิฉะนั้นโรงพยาบาลเอกชนที่รับโครงการสามสิบบาทรักษาโรคหลายแห่งคงไม่รวยจนมีเงินข้ามขั้นไปเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่รองรับคนรวยได้

สิ่งสำคัญที่สุดของปัญหาคือ การไปโรงพยาบาลเสียค่าใช้จ่ายแพง แต่ได้คุณภาพการบริการที่ไม่ดี ตกบันไดสองขั้นต้องถึงกับต้องตัดขา , ไปด้วยโรคธรรดาแต่ต้องตายเพราะติดเชื้อในกระแสเลือด , ไปคลอดลูกแต่ปล่อยให้แม่น้ำครำ่แตก หรือทำคลอดลูกพิการ หรือตายในยุคพ.ศ นี้

อย่างนี้แล้วแพทย์สภาควรจะรับฟังผู้เสียหาย ให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้เสียหายและหมอ หาใช่ฟังความแต่หมออย่างเดียว หรือฟังความแต่ผู้เสียหายอย่างเดียว
เพราะการเป็นแพทย์สภาไม่ใช่ทำหน้าที่ดูแลควบคุมให้หมออยู่ในอำนาจตนเองไม่ แต่ต้องทำเพื่อประชาชนด้วย

จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการสานสัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย เป็นสะพานใจระหว่างหมอและคนไข้ หาใช่ว่าจะทำหน้าที่เป็นกำแพงให้ทั้งสองฝ่ายวิ่งชน

วันหนึ่งกำแพงนั้นนอกจากเจ็บด้วยกันทุกฝ่ายแล้ว อาจพังหรือล้มครืนได้ เราจะรอให้เกิดเหตุอย่างนั้นเพราะศักดิ์ศรีของคำว่า”หมอ”กับ “ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์”นั้นมีค่าแตกต่างกันหรือ

พัชรินทร์ วิกิตเศรษฐ